เช่น ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตนํ้ามัน ในบางจังหวะ ซึ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินที่ขาดหายไปในช่วงเวลาตรึงราคาด้วย

สำหรับกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงวันนี้ มีภาระหนี้เงินกู้ยืมธนาคารที่ต้องแบกเพื่อตรึงราคานํ้ามัน เป็นมูลค่าถึง 105,333 ล้านบาท และมีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยแก่สถาบันการเงินทุกเดือน และมีกำหนดต้องชำระหนี้ในส่วนเงินต้น ตั้งแต่เดือนพ.ย. 67 นี้ ซึ่งหนี้ดังกล่าวยังไม่รวมหนี้จากผู้ประกอบการค้านํ้ามัน

กลับมาที่กระทรวงพลังงาน รัฐบาลไม่สามารถไปแตะต้องโครงสร้างราคานํ้ามัน ต้นทุนที่แท้จริง ค่าการตลาดแบบศรีธนญชัย นํ้ามันทุกลิตรที่ถูกตรึงราคาวันนี้ ประชาชนจะต้องจ่ายหนี้ส่วนนั้นในวันหน้า แต่บรรดาผู้ค้านํ้ามันกลับสามารถจัดเก็บราคานํ้ามันแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยในทุกค่า โดยที่กระทรวงพลังงานเองก็ไม่แน่ใจว่า ราคาต่าง ๆ เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่

มันก็สมควรอยู่หรอกที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ตั้งคำถามดัง ๆ ผ่านสื่อว่า ’อยู่กันมาได้อย่างไร 50 กว่าปี โครงสร้างราคานํ้ามันวันนี้ ราคาเนื้อนํ้ามันในไทยไม่ได้แพงและแตกต่างจากคนอื่น ราคานํ้ามันวันนี้เป็นราคาที่มาจากราคาเนื้อนํ้ามันบวกด้วยภาษี และก็เงินสมทบ แม้ว่าวันนี้การค้านํ้ามันเปิดเสรีก็จริงแต่ก็ต้องมีขอบเขต แต่เดิมอำนาจกระทรวงพลังงานเคยกำหนดเพดานได้ทั้งสองขาคือ เพดานราคา และเพดานภาษี

แต่วันนี้เราดูได้แค่เพดานราคา เหลือขาเดียว เราจึงเหมือนคนถูกตัดขา อดีตเคยให้กองทุนนํ้ามันฯ ไปดูแลราคาสินค้าเกษตร เอทานอล หรือนํ้ามันปาล์ม ในตอนราคาตกตํ่าก็เป็นเรื่องสมควรทำ แต่วันนี้ราคานํ้ามันปาล์มแพงแต่ยังต้องผสมนํ้ามันปาล์มในนํ้ามันดีเซล ก็เท่ากับเอาของแพง (นํ้ามันปาล์ม) มาผสมกับของแพง (นํ้ามันเชื้อเพลิง) ก็ยิ่งทำให้แพงขึ้นไปอีก“

และนับจากช่วงหลังสงกรานต์ในเดือนเม.ย.เป็นต้นมา กลไกที่ใช้ในการตรึงราคานํ้ามันก็เหลือแค่เพียงกองทุนนํ้ามันที่แบกรับหนี้สินเอาไว้ เพราะกระทรวงการคลังได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตนํ้ามันไปแล้ว ซึ่งกองทุนนํ้ามันเพียงกลไกเดียวไม่สามารถจะแบกรับผลกระทบที่สืบเนื่องจากราคานํ้ามันได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ การขึ้นราคาค่าขนส่ง การขึ้นราคาตั๋วเครื่องบินโดยสารแถมราคาที่ปรับขึ้นก็ไม่เคยลดลงเลยแม้ราคานํ้ามันจะลดลงบ้างในบางช่วง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับการเอาเงินในอนาคตของประชาชนมาใช้ปกป้องผลประโยชน์บรรดาผู้ค้านํ้ามัน เพราะการตรึงราคาในระยะสั้น ๆ แล้วปล่อยให้ประชาชนดำเนินชีวิตท่ามกลางภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นแบบไม่มีวันจะลดลงในขณะที่บรรดาผู้ค้านํ้ามันกลับคิดราคาตามสูตรและโครงสร้างที่ไม่ยอมเปิดเผยต้นทุนอย่างแท้จริง และยังสามารถกอบโกยรายได้และกำไรเต็มที่ จนสามารถนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนขยายธุรกิจอื่น ๆ เต็มไปหมด แตกไลน์ธุรกิจมากมายด้วยเงินทุนจากการค้านํ้ามันอย่างไม่เป็นธรรม

หากมองย้อนกลับไป ก็พบว่าไม่มีรัฐบาลไหนลุกขึ้นมาสู้เพื่อราคานํ้ามันที่เป็นธรรมต่อประชาชน ไม่มีกระทรวงพลังงานยุคไหนลุกขึ้นสู้กับโครงสร้างราคานํ้ามันที่ไม่เป็นธรรม และกลไกในการสร้างเสถียรภาพราคานํ้ามันที่ควรจะมีเงินสำรองอย่างเพียงพอ ต้องกลับกลายมาแบกภาระหนี้สินกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า อาจต้องมีการควบคุมธุรกิจค้าปลีกนํ้ามัน เพราะในเมื่อปล่อยให้เสรี แต่ผู้ค้ากลับไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่สามารถชี้แจงต้นทุนที่มาได้ ก็ควรนำกลับไปเป็นสินค้าควบคุม

และหากจะต้องควบคุมราคานํ้ามัน ก็ต้องเสริมเขี้ยวเล็บด้วยการปรับบทบาทของกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง ให้มีอำนาจและครอบคลุมมากกว่าเดิม เพิ่มอำนาจให้สามารถอุดหนุนราคา แทรกแซงเชิงปริมาณ หรือเก็บภาษีสรรพสามิตนํ้ามันแทนกระทรวงการคลัง วันนี้ อย่างน้อยที่สุดเรายังพอมีหวังจากนโยบาย รื้อ ลด ปลด สร้าง และความพยายามแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาครวมทั้งยังมีนโยบายการสำรองนํ้ามันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ของประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในยามวิกฤติและยังสามารถออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกนํ้ามันเชื้อเพลิงให้ผู้ค้านํ้ามันแจ้ง
ราคาต้นทุนที่แท้จริง เพื่อป้องกันมิให้เกิดการค้ากำไรเกินควร.