พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า อยากให้ประชาชนได้เห็นถึงความเสียสละของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่ง ในการรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นการศึกษาวิจัยและแหล่งท่องเที่ยว จึงกล่าวได้ว่าที่พวกเราทุกคนได้มีทรัพยากรป่าไม้ ป่าชายเลน รวมถึงทรัพยากรทางทะเล ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่นี้ ส่วนหนึ่งต้องแลกมาด้วยการอุทิศตนปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ยากลำบากและเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อันจะหาผู้ปฏิบัติได้น้อย ถือเป็นการกระทำอันมีเกียรติ ควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่มุ่งมั่นเสียสละ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน แต่ด้วยขนาดพื้นที่ในการเฝ้าดูแลนั้นกว้างใหญ่ หากเปรียบกับปริมาณเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่มีอยู่ไม่มาก

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า กรม ทช. มีแนวทางการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือที่เรียกว่า “SMART Patrol” ทั้งด้านทางทะเล และทางป่าชายเลนและชายฝั่ง ที่ทางกรมฯ ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย ได้นำระบบฯ ดังกล่าวมาใช้ในรูปแบบการดำเนินงานโดยใช้ระบบ Smart ในการลาดตระเวน ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างแผนการลาดตระเวนผ่าน web Application การลาดตระเวนตามแผนผ่าน Mobile Application การตรวจสอบ ติดตามการปฏิบัติงานตามแผน และการออกรายงานผลการลาดตระเวน ผ่านระบบบริหารจัดการลาดตระเวนป่าชายเลนเชิงคุณภาพ

“ที่ผ่านมาในปี 66 มีการลาดตระเวนป้องกันและปราบปรามทางป่าชายเลนและชายฝั่ง จำนวน 104 ครั้ง และมีการดำเนินคดีไปแล้ว 75 คดี และได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า มีการนำรถปฏิบัติการอากาศยานไร้คนขับ UAV Mobile operation เพื่อเป็นหน่วยบัญชาการเคลื่อนที่พร้อมทั้งอุปกรณ์ภาคสนาม รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อช่วยในด้านการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ศึกษา วิจัย ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย โดย ทช. มีสวัสดิการในการช่วยเหลือ และการสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ซึ่งเป็นทั้งผู้ที่เสียสละได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ กรมฯ ได้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล”.