สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ว่า ข้อสังเกตนี้ได้รับการสนับสนุนจากผลการศึกษาล่าสุด โดยคณะนักวิจัยชาวจีน ซึ่งเผยแพร่ในวารสารเซลล์ โฮสต์ & ไมโครบ ว่าสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังของประเด็นข้างต้น อาจมาจากแบคทีเรียเมกะโมนาส (Megamonas) ซึ่งเป็นวงศ์แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอ้วน


ทีมนักวิจัยจากโรงพยาบาลรุ่ยจิน ในเครือคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง สถาบันวิจัยจีโนมิกส์ และสถาบันวิจัยการแพทย์อัจฉริยะสังกัดสถาบันบีจีไอ ร่วมกันระบุแบคทีเรียที่อาจเป็นต้นตอนำไปสู่โรคอ้วน พร้อมเปิดเผยกลไกเบื้องหลังจากการศึกษา ในกลุ่มคนที่มีภาวะน้ำหนักเกินจำนวนมากในจีน


การศึกษาหลายฉบับ เน้นย้ำบทบาทสำคัญของโพรไบโอติกส์ในลำไส้ที่มีต่อโรคอ้วน ทว่าจุลินทรีย์เฉพาะที่มีส่วนก่อให้เกิดโรคอ้วนและกลไกพื้นฐานยังคงไม่มีการระบุแน่ชัด


ทีมวิจัยใช้วิธี shotgun sequencing เพื่อศึกษาสารพันธุกรรมทั้งหมด ในตัวอย่างอุจจาระจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคอ้วน 631 คน และกลุ่มควบคุมที่มีน้ำหนักปกติ 374 คน โดยระบุกลุ่มจุลินทรีย์ ซึ่งมีเมกะโมนาสเป็นส่วนใหญ่ในตัวอย่างจากบุคคลที่เป็นโรคอ้วน


นักวิจัยระบุว่า กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีองค์ประกอบของแบคทีเรียคล้ายคลึงกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ แบคทีรอยด์ดีส (Bacteroides) พรีโวเทลลา (Prevotella) และเมกะโมนาส จากตัวอย่าง 1,005 รายการ โดยผู้ที่มีแบคทีเรียเมกะโมนาสจำนวนมาก พบว่ามีดัชนีมวลกาย (บีเอ็มไอ) และสัดส่วนการเป็นโรคอ้วนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแบคทีเรียอีกสองประเภท


การวิเคราะห์เพิ่มเติมเผยให้เห็นว่าเมกะโมนาสสามสายพันธุ์ ล้วนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับน้ำหนักตัว เส้นรอบเอว และดัชนีมวลกาย ทีมวิจัยจึงมองว่าแบคทีเรียเมกะโมนาสและโรคอ้วนนั้นเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ


จากผลการค้นพบเกี่ยวกับเมกะโมนาสที่นำไปสู่โรคอ้วน ทีมวิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงผลของเมกะโมนาส ซึ่งมีต่อประชากรที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคอ้วนแตกต่างกัน


การศึกษาพบว่าในประชากรที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคอ้วนต่ำ แบคทีเรียเมกะโมนาสส่งผลต่อดัชนีมวลกายสูงกว่า ในประชากรที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคอ้วนสูงอย่างมีนัยสำคัญ


นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญพบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ ระหว่างกลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วนและกลุ่มน้ำหนักปกติ มีความแตกต่างชัดเจนมากกว่า ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคอ้วนต่ำ


เพื่อเปิดเผยกลไกเบื้องหลังของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ทีมวิจัยได้ทำการทดลองเพิ่มเติมโดยใช้ต้นแบบหลายชนิด เช่น หนูทดลองปลอดเชื้อจําเพาะ หนูปลอดเชื้อโรค และออร์แกนอยด์ของลำไส้เล็ก โดยใช้ M. rupellensis ซึ่งเป็นตัวแทนสายพันธุ์ของแบคทีเรียเมกะโมนาส มาใช้เป็นอาหารทดลอง พบว่า ไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อน้ำหนักตัวของหนูทดลองปลอดเชื้อจําเพาะที่ได้รับอาหารปกติ แต่กระตุ้นให้หนูทดลองชนิดเดียวกันที่ได้รับอาหารไขมันสูง มีน้ำหนักและสะสมไขมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


ส่วนในหนูปลอดเชื้อโรคที่ได้รับอาหารไขมันสูง M. rupellensis เพิ่มน้ำหนักตัวของหนูอย่างมีนัยสำคัญ และส่งเสริมการขนส่งกรดไขมันในลำไส้และการดูดซึมไขมันอย่างชัดเจน


ทีมนักวิจัยได้พิสูจน์ศักยภาพของ M. rupellensis ในการย่อยสลายอิโนซิทอล ทั้งในหลอดทดลองและในร่างกาย โดยอิโนซิทอลสามารถยับยั้งประสิทธิภาพในการขนส่งกรดไขมันได้ ซึ่งสะท้อนว่า ผลลัพธ์ของ M. rupellensis ในการก่อโรคอ้วนนั้น อาจเชื่อมโยงกับการย่อยสลายอิโนซิทอล.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA