สถานีวิทยุโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (China Media Group หรือ CMG) ได้จัดการเสวนาเรื่อง “โอกาสประชาคมโลกจากการปฏิรูปเชิงลึกของจีนยุคใหม่” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567  ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ   มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กรุงเทพมหานคร  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาคมโลกเข้าใจนโยบายดำเนินการปฏิรูปเชิงลึกของประเทศจีนหลังการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่20 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการจัดแสดงภาพผลงานสร้างสรรค์ของนักเรียนนักศึกษาในหัวข้อ “ความทันสมัยที่มีอัตลักษณ์ของจีนในสายตาของฉัน”  โดย นายหาน จื้อเฉียง  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมถ่ายภาพกับคณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ท่ามกลางสื่อมวลชนที่มารายงานข่าวกว่า 20 สื่อ

นายเซิ่น ไห่สง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสื่อสารมวลชนและผู้อำนวยการ China Media Group (CMG) ได้กล่าวผ่านคลิปวิดิโอความว่า  CMG  มุ่งมั่นที่จะบอกเล่าเรื่องราวของการปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน รวมถึงเรื่องราวของความทันสมัยแบบจีนมาโดยตลอด  พร้อมทั้งสร้างสะพานและสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับทั่วโลกอย่างแข็งขัน เพื่อการแลกเปลี่ยน การเจรจา และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน   

นายหลี่ เฟิง รองผู้อำนวยการ และ บรรณาธิการใหญ่ CMG ASIA-PACIFIC ได้กล่าวต้อนรับผู้มีเกียรติทุกท่านว่า  ทาง CMG ได้จัดการเสวนาเรื่อง โอกาสประชาคมโลกจากการปฏิรูปเชิงลึกของจีนยุคใหม่ ขึ้นในประเทศไทย   ซึ่งการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 ได้รับรอง ได้รับรองมติอย่างเป็นทางการ ว่าด้วย  การปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อเดินหน้าการสร้างความทันสมัยแบบจีน  ทาง CMG จึงได้จัดการเสวนา เพื่อแบ่งปันเรื่องนี้กับประเทศไทย

ด้าน ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้กล่าวว่า การปฏิรูปเชิงลึกของจีนในยุคใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ลึกซึ้ง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์ของจีนเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสมากมายสำหรับระดับโลก ทั้งการทำงานร่วมกัน เทคโนโลยี และ นวัตกรรมที่แลกเปลี่ยนกัน หนึ่งในประเด็นที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ การศึกษาของจีน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของจีนต่อความพัฒนาความก้าวหน้าทางการศึกษา อันจะเห็นได้จากการให้ความสำคัญการลงทุนด้านการวิจัย การพัฒนา และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ อันเป็นการเปิดช่องทางใหม่ๆ สำหรับสถาบันการศึกษาทั่วโลกในการมีส่วนร่วมและสร้างความร่วมมือที่ประสบผลสำเร็จไปด้วยกัน  

หลังจากผู้จัดและผู้ร่วมจัดงานได้กล่าวต้อนรับ ได้มีช่วงเวลาสำคัญของงาน คือ การกล่าวปาฐกถาโดย นายหาน จื้อเฉียง  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งได้เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นวันครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และปีหน้าจะครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย   เรายินดีที่จะทำงานร่วมกับเพื่อนจากทุกสาขาอาชีพในประเทศไทย เพื่อปฏิบัติตามเป้าหมายของการสร้างชุมชนจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันที่กำหนดโดยผู้นำของทั้งสองประเทศ สนับสนุนซึ่งกันและกัน และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดบนเส้นทางสู่ความทันสมัยของเรา ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยให้ดียิ่งขึ้น และเขียนบทใหม่ในยุค “จีนและไทยเป็นครอบครัวเดียวกัน”

นายหาน จื้อเฉียง  กล่าวต่อไปว่า เมื่อสักครู่ได้มีโอกาสเยี่ยมชมผลงานศิลปะของนักเรียน นักศึกษาไทยที่สร้างสรรค์รูปด้วยตัวเองเกี่ยวกับการพัฒนาของประเทศจีนและความสัมพันธ์จีน-ไทย มีความรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความใกล้ชิด มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับประเทศจีน โดยมีนักศึกษาชาวจีนจำนวน 2,000 กว่าคนมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ขณะที่ทางการจีนพร้อมสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ทางด้าน นายลิขิต วรานนท์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและสร้างดาวเทียมสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาถึงโครงการความร่วมมือด้านการสำรวจดวงจันทร์ไทย-จีนว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการร่วมมือกันทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่น องค์การความร่วมมือด้านอวกาศภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค หรือ APSCO (Asia-Pacific Space Cooperation Organization)   ซึ่งเป็นองค์การที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอวกาศหลากหลายกิจกรรม อย่างเช่นการพัฒนาดาวเทียม และการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน  ผ่านการมอบทุนการศึกษา และ  เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมในมิติต่างๆ      

นายไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร กรรมการเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-จีน และ รองเลขาธิการสภาหอการค้าฯ กล่าวว่า   สำหรับมติจากการประชุมของจีนเกี่ยวกับการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และการผลักดันความทันสมัยแบบจีนให้ก้าวหน้านั้น มีจุดหนึ่งที่เห็นว่า พวกเราควรนำมาศึกษาและหาทางนำมาปรับใช้ในประเทศไทย  คือการพัฒนาสู่ความทันสมัย    อันคงไว้ซึ่งรูปแบบของประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิม  

ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน เปิดเผยว่า   ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ช่วยให้โลกเชื่อมต่ออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การขยายการเปิดประเทศระดับสูงเพิ่มเติมของจีนจะนำโอกาสมาสู่เศรษฐกิจโลก

ดร.กำพล มหานุกูล นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน กล่าวปาฐกถาก่อนจบงานความว่า   รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ในมุมมองของสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นแนวหน้าของการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง ยิ่งในวาระอันสำคัญนี้ ยิ่งเป็นโอกาสอันดีที่สื่อมวลชนจะได้ติดตาม เรียนรู้ ทำความเข้าใจไปด้วยกัน