ผมเดินเข็นรถให้เธอไปตามชั้นอาหารต่าง ๆ ผมเห็นเธอหยิบกระป๋องและซองต่าง ๆ พลิกซ้ายพลิกขวาหาอะไรสักอย่าง เดาว่าเธอคงจะหาไม่เจอ ผมจึงเอ่ยถามว่ามาดามหาอะไรอยู่หรือครับ เธอพูดว่าที่นี่ไม่มีฉลากคาร์บอนหรือคะ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวัตถุดิบอันไหนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผมบอกว่าผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยดูฉลาก บางคนแค่ดูฉลากวันผลิต วันหมดอายุ บางคนอาจจะดูฉลากที่บอกถึงคุณค่าทางโภชนาการ แต่ผมจะดูแค่ราคาถูก ประหยัด เหมือนผู้คนส่วนใหญ่ที่จ้องที่มุมลดราคา แหม่มสาวส่งสายตาตำหนิผมเล็กน้อย พร้อมสอนว่าไม่ได้นะคะ การกินของเราทุกมื้อ ถ้าไม่ระวังให้ดี ไม่ดูคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อาหาร ไม่ดูว่าอาหารชนิดนั้นเป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า หรือสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมแล้ว โลกจะหายนะด้วยการกินของเรา ลองคิดดูสิว่าคนในโลก 8 พันล้านคน กินอาหาร 3 มื้อต่อวัน ถ้าเราไม่คิดก่อนกินโลกจะเป็นอย่างไร

ผมสนใจถามมาดามต่อว่า ฉลากคาร์บอนในอุตสาหกรรมอาหารที่ยุโรปเป็นอย่างไร เธอตอบว่าคนรุ่นใหม่ในยุโรป สนใจเรื่องนี้กันมาก พยายามควบคุมคาร์บอนรายบุคคลให้ไม่เกิน 2 ตันต่อปี ดังนั้น ต้องดูฉลากคาร์บอนในทุกสิ่ง ถ้าเกินต้องหาวิธีลด หรือชดเชยจนเป็นศูนย์ ผู้คนจึงเรียกร้องให้ทุกสินค้าและบริการจะต้องติดฉลากคาร์บอน และมีงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นบอกว่า การติดฉลากช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและลดคาร์บอนได้จริง อีกทั้งเป็นจุดขายใหม่ แต่ตอนนี้เรามีฉลากคาร์บอนหลายแบบ ที่มีวิธีคำนวณแตกต่างกัน เปรียบเทียบกันได้ยาก เรากำลังหามาตรฐานฉลากคาร์บอนที่มาจากฐานวัดเดียวกัน จะได้ง่ายในการเปรียบเทียบสำหรับผู้บริโภค หรือกำลังคิดวิธีที่ง่ายในการสื่อสาร เช่น สร้างคาร์บอน มาก กลาง น้อย ผมบอกมาดามว่าดูนี่เลย ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ดูง่ายใช้กันมานาน และเรายังมี ฉลากเขียว ฉลาก LCA (Life Cycle Assessment) ฉลาก EPD (Environmental Product Declaration) อีกด้วย แม้จะยังไม่แพร่หลายมากนัก

สาวปารีเซียงชื่นชมว่า ชาวไทยนี่ก็ไม่เบานะมีเรื่องความยั่งยืนดี ๆ เหมือนกัน ว่าแล้วให้ผมเลือกไวน์ไทยที่ไม่ต้องเดินทางไกล ลดคาร์บอนจากการขนส่ง ผมรีบคว้าไวน์ท้องถิ่นมาสองขวด บอกมาดามว่าไร่แสงจันทร์นี้ นอกจากจะปลูกองุ่นอย่างยั่งยืนแล้ว เจ้าของไร่ยังดำรงชีวิตบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงในแบบแปลก ๆ ของเขาอีกด้วย ในภาษาของมาดามคงจะเรียกไวน์นี้ว่า “Clair de Lune” คืนนี้เราจะฉลองท่ามกลางแสงจันทร์… เชียร์ซ.