นายอุดมธิปก ไพรเกษตร รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมี 4 แนวโน้มสำคัญ ได้แก่ 1. การนำเทคโนโลยี AI และ IoT มาใช้อย่างแพร่หลาย SME จำนวนมากกำลังลงทุนในระบบอัตโนมัติและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการ 2. การมุ่งเน้นความยั่งยืน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ SME ต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

3. การขยายตัวของตลาดออนไลน์ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ SME ต้องพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ให้แข็งแกร่ง 4. การพัฒนาทักษะแรงงาน การฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะดิจิทัลและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ SME ในการแข่งขัน และ 5. การร่วมมือและสร้างเครือข่าย SME หลายแห่ง กำลังสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อแบ่งปันทรัพยากรและความเชี่ยวชาญ

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา SME ทุกมิติ ได้จัดงานเสวนา Mega Trends for SME 2024 : การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลและความยั่งยืน ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนักศึกษา สู่การก้าวเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยี ก้าวทันเมกะเทรนด์ของโลกด้านความยั่งยืน 

นายกฤษกร สุขเวชชวรกิจ หัวหน้าหน่วยการตลาดและสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการผลิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่จะนำองค์ความรู้ไปใช้ในการทำงานเพื่อนำองค์กรสู่ความสำเร็จ พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ ด้วยการเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานอย่างแท้จริงกับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) 

ทั้งนี้ ถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในปี 2566 ถึง 6,317,181 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35.2% ของ GDP รวมของประเทศ และยังเป็นกลุ่มธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถเติบโตได้ในตลาดโลก ซึ่งนักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้จากกรณีศึกษาไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในอนาคต

นายตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม กล่าวว่า งานในครั้งนี้ ได้มีผู้เชี่ยวชาญจากธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการตลาดดิจิทัล ธุรกิจสัตว์เลี้ยง และธุรกิจสุขภาพ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในปี 2567 จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค SME ที่สามารถนำเสนอนวัตกรรมและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะทางเหล่านี้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง คือ “การเข้าใจตลาดดิจิทัล” และ “ธุรกิจสุขภาพ” เป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง และเป็นหนึ่งในธุรกิจเด่นแห่งยุค โดยเฉพาะการที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยและความนิยมป้องกันก่อนเกิดโรค อีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังมาแรง คือ “ธุรกิจสัตว์เลี้ยง” จากการที่คนยุคใหม่มีบุตรน้อยลงและนิยมเลี้ยงสัตว์เปรียบเสมือนคนในครอบครัวมากขึ้น