เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในรายการ DAILYNEWS TALK  หัวข้อ “กระชากหน้ากากไอ้โม่ง ต้นตอปลาหมอคางดำ” ว่า ที่ผ่านมาตนได้ทำหนังสือทวงถามไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตามที่ได้ตั้งกระทู้ถามไป เป็นที่มาในการลงพื้นที่ของ รมว.เกษตรฯ ในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกที่ออกจากปาก รมว.เกษตรฯ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องยกระดับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้มีการยกระดับ แต่ก็มีการดำเนินหลายมาตรการ

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ตนได้พูดในที่ประชุมว่าเรื่องนี้เป็นวิกฤติใหญ่มาก ผ่านมาแล้ว 8 อธิบดีกรมประมง 7 รมว.เกษตรฯ วันนี้ถ้าท่านฝ่าวิกฤติไปได้ ท่านจะเป็นวีรบุรุษให้กับเกษตรทั้งหลาย วันนี้เราต้องช่วยกันทำ ตนได้สื่อสารไปและเขารับปากว่าจะดำเนินการ แต่มันก็เงียบหายไปอีก และตนได้ตั้งกระทู้ถามสดไปเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตนตั้งกระทู้ครั้งแรกมีการระบาด 11-12 จังหวัด กระทู้ครั้งที่ 2 จำนวน 14 จังหวัด และวันนี้ 17 จังหวัดแล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและเราจะนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะจากปัญหาในประเทศไทย มันกำลังจะกลายเป็นปัญหาในระดับภูมิภาค เพราะ 1 ใน 17 จังหวัด มันลุกลามบานปลายไป จ.ตราด รวมทั้งน่านน้ำในฝั่งกัมพูชา  จ.สงขลา มันจะลงไปมาเลเซีย สิงคโปร์  แล้วเราจะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราสื่อสาร

นายณัฐชา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหานั้น ตนอยากเห็นหน่วยงานภาครัฐคือนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ เพราะเรื่องนี้เราต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าปลาชนิดนี้มีอานุภาพการทำลายล้างสูง ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์มันกัดกินไปหมดแล้ว ถ้าเราปล่อยไว้ ระบบนิเวศที่ไม่สมบูรณ์มันจะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ปลาท้องถิ่นจะไม่มีเหลือ ตนอยากให้นายกฯ จริงจังกับการแก้ปัญหานี้ รมว.เกษตรฯ ก็ยอมรับแล้วว่าต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ นั่นหมายความว่ามันรุนแรงจริงๆ

“ดังนั้นนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ข้อแรกมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเอาผิดต้นตอสาเหตุไปสืบหาให้ได้ต้นตอสาเหตุเป็นใคร อะไร อย่างไร มาทำต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้อย่างไร พี่น้องประชาชนเดือดร้อน สองกระทรวงเกษตรฯ ไปดูแลเกษตรกร ชาวประมงต่างๆ ที่เกิดวิกฤติจากปัญหาเหล่านี้ ช่วยเหลือเยียวยาเขา เพาะพันธุ์ แจกพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อไม่ให้เขาต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้ สามกระทรวงมหาดไทย ต้องไปดูว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน ด้วยการประกาศเขตภัยพิบัติ 17 จังหวัด วันนี้ทุกคนรู้แล้ว แต่ถามว่ารู้หรือไม่เกษตรกรใน 17 จังหวัดเขาต้องเผชิญชะตากรรมอย่างไร จึงต้องช่วยประกาศเขตภัยพิบัติให้เขาด้วย อย่างน้อยเขาจะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือในเบื้องต้น เป็นออกซิเจนให้คนที่ล้มฟุบไปแล้ว ได้หายใจขึ้นมาอีกครั้ง เป็นการปั๊มหัวใจให้เกษตรกรลุกขึ้นมาอีกครั้ง ไม่อย่างนั้นเกษตรกรเปลี่ยนอาชีพหมด” นายณัฐชากล่าว

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า  วันนี้กระทรวงมหาดไทยยังไม่มีการเยียวยาใดๆ ส่วนกระทรวงทรัพยากรฯ นิ่งสนิท เงียบสนิททั้งที่เป็นปัญหากระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ และมีข่าวว่าพบปลาชนิดนี้ตามแนวชายฝั่ง ออกนอกน่านน้ำ 3 ไมล์ทะเลไปแล้ว กรมต่างๆ ที่อยู่ในกระทรวงทรัพยากรฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีมาตรการในการดำเนินการอย่างไร เพราะมันจะลุกลามไปยังสัตว์ทะเลอื่นๆ วันนี้กระทบเกษตรกร แต่ต่อไปทุกท่านที่ดูรายการอยู่จะเดือดร้อน เพราะปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เพราะมันออกนอกน่านน้ำไปกินกุ้ง เคย ปลาเล็ก ปลาน้อย ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อไปจะซื้อข้าวปลาอาหาร จะกินปลาต่างๆ ต้องเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียว ต้องกินปลาที่มีแบรนด์อย่างเดียว ถ้าไม่กินในซูเปอร์มาร์เก็ตท่านก็ต้องจำใจกินปลาหมอคางดำ

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ส่วนใครบ้างที่ต้องออกมารับผิดชอบในเรื่องนี้ คิดว่าวันนี้รัฐต้องกล้าประกาศชักธงรบในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชน ในการฟ้องร้องบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะมีกี่บริษัทก็แล้วแต่ คุณต้องกล้าดำเนินคดี และเป็นตัวแทนในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ วันนี้หน่วยงานรัฐยังนิ่งเฉยในการหาต้นตอสาเหตุ เราเห็นการตั้งคณะทำงานตามล่าหาความจริง แต่ครบ 7 วันแล้ว ยังไม่มีมาตรการในการตามหาต้นตอที่เกิดขึ้น วันนี้หากภาครัฐกล้าลุกขึ้นมาฟ้องร้องบริษัทเอกชน เราจะได้เห็นอีกก้าวหนึ่งของการทำงาน ที่ผ่านมากรณีหมูเถื่อนที่ภาครัฐพ่ายแพ้ต่อกลุ่มทุน วันนี้ปลาเถื่อนใครจะชนะใครจะแพ้ และตนยืนยันกับพี่น้องประชาชนผ่านทุกช่องทางว่า ตนไม่หยุดอยู่แค่นี้ คนที่มาทำลายอนาคตของลูกหลาน อนาคตของระบบนิเวศ ต้องได้รับการลงโทษ

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า สำหรับการทำงานของกรรมาธิการฯ เราได้เชิญเอกชนมาชี้แจงถึง 2 ครั้ง เพื่อต้องการให้เขามีพื้นที่ในการนำเสนอ วันนี้สังคมตั้งคำถามว่าวันนี้คุณเป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว แล้วเพราะเหตุใดมันถึงบังเอิญไปเจอในตำบล อำเภอ และจังหวัดเดียวกันกับที่คุณทำวิจัยอยู่ นี่คือสิ่งที่สังคมตั้งคำถาม เราต้องการให้พื้นที่กับเขาในการชี้แจงเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ความจริงกระจ่าง เมื่อความจริงกระจ่าง สังคมก็จะคลายความสงสัยว่าเขาทำถูกต้องแล้วหรือไม่  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปละเลย หรือหละหลวมตรงไหนหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องการ แต่วันนี้เราไม่ได้รับ ไม่มีการชี้แจงเอกสารหลักฐานอะไร มีเพียงหนังสือตอบข้อซักถามเท่านั้น เช่น ตอบว่า ไปส่งแล้ว ทำลายแล้ว ยกเลิกแล้ว ตายหมดแล้ว มันเป็นคำตอบ แต่ไม่มีการอธิบายรายละเอียดอะไร เราต้องการให้ความเป็นธรรมกับท่าน และเพื่อให้สังคมคลายข้อสงสัย เราทำเต็มกำลังได้เท่านี้ เราได้ส่งข้อสงสัย ข้อซักถาม และข้อเสนอไปยังนายกฯแล้ว หลังจากนี้เป็นกลไกของฝ่ายบริหารแล้วที่ต้องดำเนินการต่อ

“วันนี้มีการเปิดออกมา 7 มาตรการในการที่จะเยียวยา หรือวิจัยต่างๆ แต่ผมคิดว่าขาดไปข้อหนึ่ง คือคุณไม่คิดจะตามหาต้นตอสาเหตุเลยเหรอ ถ้าคุณไม่ตามหาต้นตอสาเหตุ นั่นหมายความว่าคุณยอมรับว่าปล่อยปละละเลยจนเกิดการระบาดขึ้น เดี๋ยวเกษตรกรทั่วประเทศไทยที่เขาเจอวิกฤติจากปัญหาเรื่องนี้เขาจะฟ้องหน่วยงานภาครัฐ แล้วจะทำอย่างไร” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวอีกว่า กระบวนการต่างๆ ในสภา อาจจะเต็มกำลังที่เราจะทำได้แล้ว แต่อย่างน้อยสังคมจะช่วยกดดันคนที่สามารถทำงานได้ ไขลานพวกเขาให้ไปดำเนินการตามที่เขาควรจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการติดตามความจริงให้ปรากฏต่อสังคมให้ได้ เรื่องนี้ถ้าความจริงไม่ปรากฏ สิ่งที่ตนพูดมาหลายเวที คือภัยอันตรายที่มันจะยกระดับไปสู่ระดับภูมิภาค วันนี้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเอาเข้ามาในประเทศ เพราะเราไม่มีใบเสร็จ เราขาดจิ๊กซอว์บางตัวที่จะทำให้เห็นภาพชัดเจน แต่ต่างประเทศถ้ามันหลุดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วเขาจับ และนำไปประเมินความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม มีการตรวจดีเอ็นเอ และนำมาขอประสานความร่วมมือกับดีเอ็นเอแบงก์ในกรมประมงของประเทศไทย หากตรงกันพอดีก็จะเกิดความเสียหายต่อเงินภาษีของประชาชนอย่างมหาศาล นี่คือภัยอันตรายที่ตนอยากสื่อสาร และต้องหาต้นตอให้ได้ เพราะถ้าหาไม่ได้ วิกฤติหนักที่กำลังจะตามมารัฐบาลนี้ก็รับผิดชอบไม่ไหว.