เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดแถลงข่าวเรื่อง “หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ว่า รู้สึกดีใจที่บีทีเอสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงจนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุดที่มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช–แบริ่ง (เดือน พ.ค. 62-พ.ค. 64) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่–คูคต (เดือน เม.ย. 60-พ.ค. 64) กว่า 11,755 ล้านบาท

นายคีรี กล่าวต่อว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเมื่อไม่จ่ายค่าจ้างเดินรถให้บีทีเอส เราพยายามเจรจาวิธีการต่างๆ กับ กทม. และเคที ซึ่งเวลาผ่านไป 2 ปี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนถึงปีที่ 3 จึงต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม. และเคที ยังไม่ได้ติดต่อมาเรื่องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ ตามที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกของวันทำการภายหลังศาลฯ ตัดสิน บีทีเอสพร้อมเจรจากับ กทม. และเคที ในการหาทางออกร่วมกันว่าจะจ่ายคืนในรูปแบบใด แต่ทางที่ดีที่สุดคือ อยากให้จ่ายคืนทั้งก้อนมาในวันพรุ่งนี้เลย เพราะนอกจากจะนำเงินดังกล่าวไปใช้หนี้แล้ว บีทีเอสยังมีแผนนำเงินมาใช้ในการพัฒนางานบริการ และสถานีต่างๆ ซึ่งสถานีรถไฟฟ้าสร้างมา และเปิดใช้งานมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ถึงเวลาแล้วต้องปรับปรุง ตกแต่ง ทาสีใหม่ รวมถึงเพิ่มระบบต่างๆ ที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าที่ผ่านมา

นายคีรี กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันจะเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายเมื่อมาใช้บริการด้วย อย่างไรก็ตามมั่นใจว่า กทม. และเคที มีศักยภาพที่จะร่วมกันชำระหนี้ภายใน 180 วันตามคำสั่งศาลฯ ซึ่งคงไม่หยิบยกประเด็นใดมาเป็นข้อโต้แย้งในการชำระหนี้ และเวลานี้ก็ไม่มีประเด็นใดที่ กทม. และเคที จะหยิบมาโต้แย้ง และไม่ชำระหนี้ เพราะคำสั่งศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ ถือว่าตัดสินแล้วว่าบีทีเอสทำถูกต้องทุกอย่าง หวังว่า กทม. และเคทีจะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของบีทีเอสที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมายเร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่บีทีเอสโดยเร็ว เนื่องจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน วันละประมาณ 7 ล้านบาท

นายคีรี กล่าวอีกว่า บีทีเอสคงยังไม่ฟ้องหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ เดือน พ.ย. 65-มิ.ย. 67 เพราะไม่คิดว่า กทม. จะต้องให้ฟ้องถึงจะจ่ายค่าเดินรถ ซึ่งคำพิพากษาของศาลฯ ครั้งนี้ชัดเจนแล้ว ถ้าฟ้องอีกก็ต้องจ่ายอยู่ดี และคงไม่ใช่ว่าเอกชนต้องไปฟ้องจึงจะได้เงินค่าจ้างมา ถ้าทำแบบนี้คงไม่มีเอกชนรายใดที่จะเข้ามารับจ้าง หรือร่วมงานกับหน่วยงานรัฐอีกแน่ ก็จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตามสำหรับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช, สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 72 นั้น เบื้องต้นทราบว่า ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษารูปแบบบริหารโครงการในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยหากได้เอกชนรายใหม่เข้ามาบริหารโครงการ ก็ต้องดำเนินการตามสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ ที่ระบุว่าต้องจ้างบีทีเอสเดินรถตลอดแนวเส้นทางสายสีเขียวประมาณ 60 กม. จนครบอายุสัญญาในปี 85

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี กล่าวว่า ณ วันที่ 25 ก.ค. 67 กทม. และเคที มีหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ อยู่กว่า 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.หนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาฟ้องครั้งที่ 1 (พ.ค. 62-พ.ค. 64) ประมาณ 11,755 ล้านบาท, 2.หนี้ที่ฟ้องอยู่ในศาลชั้นต้น ฟ้องครั้งที่ 2 (มิ.ย. 64-ต.ค. 65) ประมาณ 11,811 ล้านบาท และ 3.หนี้ที่ยังไม่ได้ฟ้อง (พ.ย. 65-มิ.ย. 67) ประมาณ 13,513 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมียอดเงินค่าจ้างตามสัญญาในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนสิ้นสุดสัญญาจ้างปี 2585 ที่ต้องชำระให้แก่บีทีเอสด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทฯ มีแผนจะจัดหาขบวนรถใหม่เข้ามาให้บริการผู้โดยสารเพิ่มเติมด้วย อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด คาดว่าจะเข้ามาประมาณ 5-6 ปีข้างหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีมูลค่ารวมกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างการติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน กทม. และเคที ได้ชำระค่า E&M มาแล้ว 2.3 หมื่นล้าน หลังจากก่อนหน้านี้บีทีเอสได้ยื่นฟ้องศาลฯ และศาลฯสูงสุดได้ตัดสินให้ กทม. และเคที ชำระหนี้คืน ส่วนหนี้ O&M ขณะนี้ศาลฯ สูงสุด ได้ตัดสินให้ชำระหนี้ก้อนแรก 11,755 ล้านบาท โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หลังจากนี้จึงเหลือหนี้สินอีกประมาณ 2.53 หมื่นล้านบาท และยอดเงินค่าจ้างตามสัญญาในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนสิ้นสุดสัญญาจ้างปี 2585