เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มคนไร้บ้านอาศัยหลับนอนในเวลากลางคืนบริเวณป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ ว่า เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 29 ก.ค. เวลา 22.30 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ได้ส่งทีมหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ศรส. จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางกะปิ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว ลงพื้นที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ พบกลุ่มคนไร้บ้านในที่สาธารณะ จำนวน 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน ซึ่งมีผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย 2 คน

สุดอึ้ง! ป้ายรถเมล์ห้างดัง เจอคนไร้บ้านยึดเป็นที่นอนจนไม่มีที่นั่ง

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ ศรส. ได้พยายามพูดคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านในการเข้ารับความช่วยเหลือคุ้มครองในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่ทั้งหมดประสงค์ไม่เข้ารับความช่วยเหลือคุ้มครอง เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างทั่วไปในบริเวณดังกล่าว รายได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้ต้องมาอาศัยป้ายรถเมล์เป็นที่หลับนอน และบางรายเพิ่งพ้นโทษ ไม่รู้ว่าจะขอรับความช่วยเหลือได้อย่างไร ในขณะที่ผู้สูงอายุมีปัญหาครอบครัว ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ 

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศรส. ได้ย้ำกับกลุ่มคนไร้บ้านว่า หากประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ ขอให้โทรฯ มาแจ้งที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ ศรส. ร่วมกับสำนักงานเขตบางกะปิ และ สน.ลาดพร้าว จะลงพื้นที่จัดระเบียบคนขอทาน และคนไร้ที่พึ่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

นายวราวุธ กล่าวย้ำว่า สถานการณ์คนไร้ที่พึ่งในปี 2562 มีประมาณ 2,700 คน ลดลงเหลือ 2,499 คน ส่วนปี 2566 ลดลงเหลือ 2,499 คน ขณะที่ปี 2567 เฉพาะในพื้นที่ กทม. มีประมาณ 500 คน ซึ่งในกรณีคนเร่ร่อน พม. มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ ดูแลคนไร้ที่พึ่งได้ประมาณ 4,800 คน ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไร้ที่พึ่ง เริ่มจากป่วยทางจิต นานไปจะไม่ยอมเข้าบ้าน ส่วนใหญ่หากเจอจะเร่งประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พม. หรือกระทรวงสาธารณสุขให้เข้าบำบัด แต่ปัญหาคือเมื่อเจ้าตัวปฏิเสธเข้ารับความคุ้มครอง ไม่สามารถทำอะไรได้ กฎหมายที่มีอยู่ควรจะต้องมีมาตรการที่จูงใจมากกว่านี้ รวมถึงมีความเข้มงวดให้เอาผิดทางกฎหมายได้ เพราะพอคนไร้ที่พึ่งปฏิเสธเข้ารับการคุ้มครอง พม. ไม่สามารถที่จะไปจับหรือเอาตัวออกมาจากสถานที่ได้ เพราะถ้าทำแบบนั้นจะไปเข้ากฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุ้มหาย แล้วจะเกิดปัญหาตามมา แต่ถ้าไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็อาจจะใช้กฎหมายอื่น ในการดำเนินการกับผู้ไร้ที่พึ่งหรือผู้ที่นอนอยู่ตามป้ายรถเมล์ เช่น พ.ร.บ.กีดขวางทางเท้า แต่บทลงโทษที่มีจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะการจะเข้าระบบขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เมื่อไม่สมัครใจ เหตุการณ์ก็จะวนอยู่เช่นนี้

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า นอกจาก พม. ยังมี กทม. ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา มีศูนย์คอยรับ เช่น บ้านอิ่มใจ ที่รับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพื่อให้มีที่พักพิงชั่วคราวและวางแผนในการใช้ชีวิต มีการฝึกฝีมือ และการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ พม. ได้แนะนำให้ทั้ง 5 คน ไปเข้าบ้านอิ่มใจ ของ กทม. พร้อมเล่าด้วยว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบทั้ง 5 คน ก็กระจัดกระจายออกจากพื้นที่หน้าป้ายรถเมล์ ไปอยู่พื้นที่อื่นแทน ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก เมื่อไม่ยอมเข้าระบบ ก็เหมือนแผลฝีแตกกระจายไปอยู่ที่อื่น ดังนั้นตามกฎหมายและอำนาจของ พม. ทำได้เพียงแค่เชิญพวกเขาเหล่านั้นเข้าสู่ระบบและพัฒนาทักษะฝีมือ และยังมีโครงการบ้านเช่าคนละครึ่ง รวมถึงการจัดหางาน แต่ด้วยพื้นฐานของสังคมไทยที่เป็นสังคมเอื้ออาทร คนไทยเห็นคนลำบาก ก็มักจะช่วยเหลือ

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กลุ่มคนไร้บ้านและคนขอทาน เห็นคนใจบุญก็จะใช้โอกาสนี้อยู่เฉย ๆ พร้อมยกตัวอย่างเวลาที่มีการแจกของ คนกลุ่มนี้ก็จะเข้าไปรับของแจก บางครั้งก็จะเอาไปขาย ซึ่งการแจกของอาจเป็นการสนับสนุนให้มีคนไร้บ้านหรือขอทานเพิ่มขึ้นหรือไม่ พร้อมย้ำเรื่องขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ที่ยังมีขอทานเพราะได้รายได้ที่มาจากประชาชน ปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น มีการนำสัตว์เลี้ยง เด็กเล็ก หรือคนพิการ ซึ่งบางครั้งเป็นผลพวงมาจากการค้ามนุษย์ ขอให้ประชาชนหยุดให้ทานกับคนขอทาน