แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 31 ก.ค. นี้  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประชุมเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บในงวดสุดท้ายของปี ก.ย.–ธ.ค. 67 อย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค. 67 ใน 3 กรณี คือ กรณีแรก หน่วยละ 4.65 บาท กรณี 2 หน่วยละ 4.92 บาท และกรณี 3 หน่วยละ 6.01 บาท แต่ละกรณีแตกต่างกันที่การชำระหนี้คงค้างจำนวน 98,495 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

อย่างไรก็ตาม แม้ กกพ.จะประกาศ 3 ราคา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นค่าไฟทั้งหมด จากงวดปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท แต่ทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ขอที่ประชุม ครม.พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายไว้เท่าเดิม คือ หน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งทาง ครม.วันที่ 23 ก.ค. 67 ได้อนุมัติแนวทางตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการภาระค่าเชื้อเพลิงร่วมกับ กฟผ. และบมจ.ปตท. รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่กรอบไม่เกินลิตรละ 33 บาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 ซึ่งขณะนี้ทาง กกพ.ได้รับหนังสือยินยอมภาระต้นทุนคงค้าง และจะทยอยคืนทีหลังจาก กฟผ.แล้ว และคาดว่า วันที่ 30 ก.ค. ทาง ปตท.จะส่งหนังสือรับภาระต้นทุนคงค้าง และทยอยจ่ายคืนทีหลังเช่นกัน

ทั้งนี้หากที่ประชุมบอร์ด กกพ. อนุมัติและประกาศเป็นทางการแล้ว คาดว่า ใช้เวลา 1-2 วัน หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังจากบอร์ดเห็นชอบ  ส่งผลให้บิลค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย.–ธ.ค. 67 อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไปจะอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท ส่วนกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ยังคงไว้ในอัตราเดิมหน่วยละ 3.99 บาท มีจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือนเช่นเดิม โดย ครม.จะนำงบกลางมาชดเชย

อย่างไรก็ตามผลจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท จากที่ควรต้องปรับขึ้นตามแนวทางที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นที่ 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย  ทำให้ ปตท.และ กฟผ. จะยังไม่ได้รับการคืนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หรือเอเอฟก๊าซ ที่ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันแบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อน 15,083.79 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับคืนภาระต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงเพียงหน่วยละ 5 สตางค์ จากภาระต้นทุนคงค้างที่สะสมอยู่จำนวน 98,495 ล้านบาท จะต้องรอทยอยเรียกเก็บคืนจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในภายหลัง ซึ่งยังไม่รู้อนาคตว่า งวดแรกของปี 68 (ม.ค.–เม.ย.) จะต้องรับภาระยืดการชำระไปอีกหรือไม่ เนื่องจากทิศทางราคาพลังงานยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง