นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 25 ก.ค. เห็นชอบรวมโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม 6, สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถานีบ้านฉิมพลี) รวมทั้งช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เข้าด้วยกัน เพื่อจัดซื้อจัดจ้างเป็นสัญญาเดียว และไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนที่สถานีตลิ่งชัน ตลอดจนงานระบบต่างๆ

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า การรวม 2 เส้นทางเป็นสัญญาเดียว ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร (กม.) ช่วยลดวงเงินโครงการฯ ได้ 110.06 ล้านบาท อยู่ที่ 15,176.21 ล้านบาท จากเดิม 2 โครงการ 15,286.27 ล้านบาท เนื่องจากการรวมเป็นสัญญาเดียว ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เหลือเพียงรายการเดียวได้ อาทิ ค่าที่ปรึกษาควบคุมงาน ค่าก่อสร้างที่พัก และสำนักงานก่อสร้าง นอกจากนี้ยังช่วยให้การบริหารจัดการโครงการง่ายกว่าการแยกเป็น 2 โครงการ หลังจากนี้จะเสนอโครงการฯ ไปกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าจะได้รับอนุมัติประมาณเดือน ส.ค.67

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า วางแผนเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาหาผู้รับจ้าง ที่ปรึกษาคุมงาน และที่ปรึกษาอิสระ ในเดือน ก.ย. 67 ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน ถึงประมาณเดือน เม.ย. 68 เริ่มก่อสร้างเดือน พ.ค. 68 ระยะเวลา 36 เดือน หรือประมาณ 3 ปี คาดว่าจะเปิดบริการได้ประมาณเดือน พ.ค. 71

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบเบื้องต้นให้ รฟท. ว่าจ้างกิจการค้าร่วม ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด ประกอบด้วย บริษัท เทสโก้ จำกัด, บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัดทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม แบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-เวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทาง 37 กม. วงเงินประมาณ 135 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 450 วัน

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า แม้ที่ประชุมบอร์ด รฟท. จะอนุมัติให้ว่าจ้างกิจการค้าร่วมบริษัท เทสโก้ จำกัด ดำเนินการทบทวนผลการศึกษาฯ รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้มฯ แต่ได้มอบให้ รฟท. หารือกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการทบทวนผลการศึกษาและให้นำมาแจ้งที่ประชุมบอร์ด รฟท. รับทราบในการประชุมเดือน ส.ค. 67 ด้วย

สำหรับช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย อยู่ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงระยะทางประมาณ 37 กม. ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-Map) ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2553-2572) รวมทั้งบรรจุอยู่ใน M-Map 2 ที่ ขร. กำหนดให้อยู่ในกลุ่ม B เส้นทางมีศักยภาพ ทบทวนการดำเนินการอีกครั้งภายหลังปี 72

เบื้องต้น รฟท. มีแผนดำเนินการช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทางประมาณ 33 กม. ก่อน ส่วนช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ระยะทางประมาณ 4 กม. ยังไม่ได้ตัดทิ้ง รอผลทบทวนการศึกษาอีกครั้งเนื่องจากในช่วงนี้ยังติดปัญหา โดยเฉพาะช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อาจต้องปรับเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา จากเดิมเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังไม่ผ่านอีไอเอ