กรณีฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลาก ทำให้น้ำในแม่น้ำแควน้อย เอ่อล้นสูงเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ในหลายพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะบ้านปากแซง หมู่ 3 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค ที่ได้รับภัยพิบัติหนักสุด น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรจมมิดหลังคา กว่า 30 หลังคาเรือน รวมทั้งที่พักรีสอร์ทขนาดใหญ่และเล็กกว่า 20 แห่ง โดยปริมาณน้ำขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้แต่ละแห่งขนข้าวของไม่ทัน ต้องหนีขึ้นที่สูงเอาชีวิตรอด ต้องยอมปล่อยให้ทรัพย์สินข้าวของถูกน้ำท่วม ต่อมาร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้สั่งการให้เขื่อนวชิราลงกรณปิดการระบายน้ำ และให้เขื่อนชลประทาน อ.ท่าม่วง เปิดประตูระบายปล่อยน้ำออก ทำให้ระดับน้ำลดทันทีกว่า 3 เมตร ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้ว

ชาวปากแซงเฮ ‘พ่อเมืองกาญจน์’ เอาจริง สั่งเขื่อน ‘บนปิด-ล่างเปิด’ 2 ชม.ลด 3 เมตร

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามายังมีฝนตกเป็นระยะๆ แต่ไม่หนัก ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 6 เมตร จนใกล้อยู่ระดับปกติ แต่ปัญหาที่ตามมาหลังน้ำลด ก็คือโคลนที่หนากว่า 30 ซม. ตั้งแต่บนหลังคาบ้านจนถึงในบ้านเต็มไปด้วยโคลนตม ซึ่งต้องรีบล้างออกโดยเร็ว หากช้าโคลนแห้งจะทำให้ล้างไม่ออก ชาวบ้านต่างหากระป๋องตักน้ำที่เริ่มลดลงไปเรื่อยๆ เข้าล้างบ้านแต่ก็ไม่สามารถทำได้ทัน

ขณะเดียวกัน ด.ต.รักประสงค์ แสนสม นายกเทศมนตรีตำบลน้ำตกไทรโยคน้อย นำเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลช่วยเหลือชาวบ้าน แต่รถดับเพลิงยังไม่สามารถมาฉีดน้ำล้างโคลนได้ เพราะต้องไปแจกจ่ายน้ำให้ชาวบ้านที่ไม่มีน้ำใช้ทั้งพื้นที่เขตเทศบาล ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเกิดความลำบากไม่มีที่อยู่ที่กิน บ้านช่องเสียหาย ต้องยอมล้วงกระเป๋ากว่า 1 หมื่นบาท กำเงินไปซื้อเครื่องสูบน้ำและสายยางมาดูดน้ำล้างบ้านตัวเอง สร้างความเดือดร้อนให้เพิ่มขึ้นอีก

ตลอดเช้าจนบ่าย หลายหน่วยงานทยอยเดินทางไปยังบ้านปากแซง หมู่ 3 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค ที่เกิดภัยพิบัติเพื่อแจกน้ำดื่ม ข้าวกล่องและหาทางช่วยเหลือ ทั้งทหาร อาสาสมัคร อส.อำเภอไทรโยค กู้ภัยหลายสำนัก แต่เมื่อไม่มีน้ำประปาก็ไม่สามารถช่วยอะไรชาวบ้านได้มากนัก คงช่วยได้เพียงขนข้าวของที่จมน้ำเต็มไปด้วยโคลน ออกมาจากบ้าน และช่วยกวาดโคลนออกได้บ้างเล็กน้อย

นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ร.ท.ทศพล ไชยโกมินทร์ ผวจ.กาญจนบุรี เตรียมประกาศพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะบ้านปากแซง อ.ไทรโยค เป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการในเรื่องการเบิกจ่าย ช่วยเหลือราษฎรได้ในทันที รวมทั้งจะดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้าน ในเรื่องการฟื้นฟูหลังน้ำลด ในเรื่องการดูแลซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งความเสียหายบ้านเรือน และด้านอื่นๆ อย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ขณะรายงานข่าว ชาวบ้านยังต้องก้มหน้าก้มตาช่วยเหลือตัวเองกันในแต่ละบ้าน เนื่องจากน้ำประปายังไม่มี และไม่มีน้ำล้างโคลนที่มากมายในแต่ละบ้าน