เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่โรงพยาบาลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  เป็นประธานเปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 จังหวัดนนทบุรี โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ เป็นการพาแพทย์เฉพาะทาง จากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปรักษาตามชุมชน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ แล้ว 81 ครั้ง ในพื้นที่ 71 จังหวัด มีประชาชนเข้ารับบริการ กว่า 1.2 ล้านราย และวันนี้ (29 ก.ค.) จัดพร้อมกันอีก 15 จังหวัด สำหรับจังหวัดนนทบุรี มีคลินิกให้บริการ 21 คลินิก หนึ่งในนั้นมีคลินิกคัดกรองโรคมะเร็ง 5 แห่ง ซึ่งมะเร็งเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของชาวนนทบุรี ทั้งมะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งเต้านม รวมถึงวัณโรคและมะเร็งปอด คาดว่า วันนี้จะมีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 3,000 คน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ประมาณ 700-800 บาทต่อคน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.1 ล้านบาท  

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ยังเหลือเวทีสุดท้าย ในวันที่ 12 ส.ค. 2567 พร้อมกัน 15 จังหวัด คาดว่า มีประชาชนมารับบริการไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน โดยจากการจัด 81 ครั้งที่ผ่านมา รวมอีก 15 ครั้ง เป็น 96 ครั้ง มีประชาชนมาใช้บริการกว่า 1.7 ล้านคน ช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชนได้กว่า 1,300 ล้านบาท ตนจึงขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้

วันเดียวกันนี้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ก็เป็นประธานเปิด “โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ที่โรงเรียนดงขุยวิทยาคม ตำบลดงขุย อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ 28 กรกฎาคม 2567” จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 นพ.สุรศักดิ์ จันทร์เกตุ ผอ.รพ.ชนแดน ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และประชาชน เข้าร่วมงาน โดยนายสันติ กล่าวว่า อ.ชนแดน อยู่ไกลจากตัวเมืองประมาณ 60 กิโลเมตร คนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง และยังพบวัณโรคปอด โรคในสังคมผู้สูงอายุ เช่น โรคทางตา โรคหูคอจมูก โรคทางกระดูกและข้อ โรคทางอายุรกรรม โรคทางช่องปาก มะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งหากได้รับการตรวจคัดกรองรักษาอย่างทันท่วงทีจะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อน ลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปรักษาพยาบาลที่ รพ.เพชรบูรณ์ มีความลำบาก ใช้เวลานาน และมีภาระค่าใช้จ่าย  ดังนั้นการอบรมให้คนในพื้นที่มีทักษะในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญมาก โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ในวันนี้ จึงมีการจัดอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนที่มารับบริการด้วย เพื่อให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่เกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น ถูกไฟฟ้าช็อต จมน้ำ หมดสติขณะเล่นกีฬา สำลักอาหารอุดกั้นหลอดลม เป็นต้น

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า จ.เพชรบูรณ์ จัดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ แล้ว 1 ครั้ง ที่ อ.วิเชียรบุรี มีผู้เข้ารับบริการเกือบ 5,000 คน สำหรับครั้งนี้ได้จัด 23 คลินิกเฉพาะทาง คือ 1.กุมารเวชกรรม 2.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม 3.มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง 4.มะเร็งตับและท่อน้ำดี 5.วัณโรค 6.ดูแลพระภิกษุสงฆ์ 7.เยี่ยมบ้านผู้ต้องดูแลประคับประคอง 8.ส่งเสริมการมีบุตร 9.เวชกรรมทั่วไป 10.จิตเวช 11.ตาในเด็กและผู้สูงอายุ 12.ทันตกรรม 13.อายุรกรรม 14.กระดูกและข้อ 15.กายภาพบำบัด 16.แพทย์แผนไทยและทางเลือก 17.มณีเวช 18.หู คอ จมูก 19.มะเร็งเต้านม 20.มะเร็งปากมดลูก 21.ฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน  22. ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ และ 23.เภสัชกรรม รวมทั้งมีจุดให้บริการยืนยันตัวตน รองรับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ร่วมให้บริการ อาทิ 1.การซ่อมรถจักรยานยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้า วิทยาลัยการอาชีพชนแดน 2.การออกบัตรผู้พิการให้กับผู้พิการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3.แจกกล้าไม้ 1,000 ต้น ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เขารัง 4.คลินิกแก้ไขปัญหาความยากจน ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. 5.บริการทำหมันสุนัข–แมว และฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า สำนักงานปศุสัตว์อำเภอชนแดน เป็นต้น คาดว่าจะมีประชาชนเข้ารับบริการในคลินิกต่างๆ ประมาณ 2,500 คน.