เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่พรรคก้าวไกล นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. และนายชยพล สท้อนดี สส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch หัวข้อ “ทวงคืนทางด่วน หมดสัมปทานต้องคืนรัฐ” เพื่อติดตามการทำงานของรัฐบาล ซึ่งพรรคก้าวไกลพบว่ามีความพยายามเอื้อประโยชน์นายทุนผ่านการขยายสัมปทานทางด่วนให้กับเอกชนเจ้าเดิมที่ถือสัมปทานดังกล่าวมายาวนาน รวมถึงมีแผนหาสร้างทางด่วนตอนใหม่ โดยให้กับเอกชนรายเดิมแบบไม่ต้องประมูลไม่ต้องแข่งขัน เป็นการหาช่องเพื่อขยายสัมปทานโดยรัฐบาลเพื่อไทย 

โดยนายศุภณัฐ กล่าวถึงกรณีดอนเมืองโทลล์เวย์ หรือทางยกระดับอุตราภิมุข ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ตามข้อตกลงในสัมปทาน จะมีการขึ้นค่าผ่านทาง ซึ่งทางยกระดับนี้มี 2 ตอน ได้แก่ ดินแดง-ดอนเมือง และ ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ทั้ง 2 ตอน สร้างและอนุมัติไม่พร้อมกัน แต่ผู้รับสัมปทานเป็นเจ้าเดียวกัน โดยในปี 2532 รัฐบาลขณะนั้นเปิดประมูลสัมปทานตอนที่หนึ่งเป็นเวลา 25 ปี ตกลงค่าผ่านทางที่ 20 บาทตลอดสาย แต่ต่อมาเกิดการแก้ไขสัมปทานรวม 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2538 ครั้งที่สองในปี 2539 

นายศุภณัฐ กล่าวว่า ในการแก้ไขครั้งที่สอง รัฐบาลขณะนั้นอ้างว่าต้องการสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ตอนที่ 2 แต่รัฐบาลกลับไม่เปิดประมูล กลับแก้ไขสัมปทานโดย 1.ขยายสัมปทานตอนที่หนึ่ง จากเดิมจะจบในปี 2557 เพิ่มอีก 7 ปี  รวมเป็น 32 ปี และ 2.พ่วงสัมปทานตอนที่สอง ระยะเวลา 25 ปี ตั้งแต่ปี 2539-2564 โดยจิ้มเลือกเอกชนรายเดิมที่เป็นเจ้าของสัมปทานตอนที่หนึ่ง กลายเป็นเอกชนรายเดียวกันได้ทั้งสองสัมปทาน ต่อมาปี 2550 มีการแก้ไขรอบที่ 3 โดยขยายสัมปทานทั้งสองตอนให้กับเอกชนเจ้าเดิมเพิ่มไปอีก 13 ปี กลายเป็นไปจบที่ปี 2577 ทั้งคู่

“นี่คือเทคนิคลับลวงพราง ที่พอจะเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่รายใด ก็มักใช้วิธีพ่วงสัมปทานของเดิม เพิ่มเติมด้วยส่วนต่อขยายใหม่ ผสมกันไปมั่วกันไปหมด อันเป็นการทั้งขยายสัมปทานเดิมและประเคนสัมปทานใหม่โดยไม่ต้องมีการแข่งขันใดๆ” นายศุภณัฐ กล่าว

นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า กระทั่งปีนี้ รัฐบาลเพื่อไทยก็เตรียมแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 4 เพื่อขยายสัมปทานให้กับเอกชนเจ้าเก่าอีกรอบ โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ปูทางว่าทางด่วนกำลังจะขึ้นราคา ประชาชนจะไม่ไหว รัฐมนตรีบังเอิญเป็นห่วงประชาชนมาก ทั้งที่เรื่องสำคัญอย่างอื่นเช่นรถเมล์ก็ไม่เห็นจะสนใจ แต่พอเป็นเรื่องสัมปทานก็สนใจเป็นพิเศษ เลยชงมาว่าจะต้องลดราคา ต่อสายเจรจาหาเอกชน ซึ่งต้องถามว่ารัฐมนตรีคิดไปเองหรืออย่างไร หรือเอกชนจะใจดีไม่ขึ้นค่าทางด่วนให้ฟรีๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะตามสัมปทานตกลงกันว่าต้องขึ้นราคา แต่เมื่อรัฐมนตรีชง เอกชนก็รับลูกด้วยการบอกว่าถ้าไม่อยากให้ขึ้นราคาก็ต้องขยายสัมปทานอีกรอบ แบบนี้ยิ่งเข้าทางรัฐมนตรี อ้างเหตุสั่งให้กรมทางหลวงไปศึกษาคำนวณว่าจะขยายสัมปทานอีกกี่ปี 

นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า จนถึงตอนนี้สัมปทานผ่านมาแล้ว 45 ปี จะจบปี 2577 แต่สิ่งที่รัฐบาลจะทำคืออยากขยายอีก แบบนี้เรียกว่า “ขยายแล้ว ขยายอยู่ ขยายต่อ” หรือไม่ แทนที่เมื่อหมดอายุ ทางด่วนจะตกมาเป็นของรัฐบาล รัฐบาลกลับสรรหาสารพัดข้ออ้างเพื่อขยายสัมปทานต่อไปเรื่อยๆ ให้เป็นของเอกชนรายเดิมต่อไปเรื่อยๆ และที่น่ากลัวกว่าคือรัฐบาลมีแผนที่จะออกสัมปทานตอนใหม่ คือตอนที่สาม รังสิต-บางปะอิน ซึ่งอาจถูกนำไปพ่วงเป็นมูลเหตุขยายสัมปทานครั้งใหม่ โดยไม่มีการแข่งขัน

“พรรคก้าวไกลขอคัดค้านการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนด้วยวิธีการแบบนี้ สัมปทานควรหมดแล้วหมดเลย แล้วค่อยเปิดให้มีการแข่งขันใหม่อย่างเป็นธรรม จึงขอเรียกร้องให้หยุดขยายสัมปทานเดิม ประเคนสัมปทานใหม่ ทวงคืนทางด่วนให้ประชาชน ลองมาเป็นรัฐบาลที่สนใจประโยชน์ของประชาชนก่อนประโยชน์ของนายทุน เชื่อว่าถ้าทำได้ ประชาชนจะรักท่านมากกว่านี้ ประเทศไทยจะเจริญมากกว่านี้” นายศุภณัฐ กล่าว 

ขณะที่นายชยพล กล่าวถึงการก่อสร้างทางด่วนศรีรัชชั้นที่ 2 หรือเรียกว่าโครงการ Double Deck ว่า อันที่จริงทางด่วนศรีรัชหมดอายุสัมปทานไปแล้ว แต่ช่วงประมาณปี 2563 ดันมีการขยายสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน เพื่อแลกกับการที่เอกชนถอนฟ้องคดีต่อรัฐ หรือรู้จักกันในนาม “ค่าแกล้งโง่” และในวันนี้ นายทุนใหญ่หน้าเดิมเล็งจะขยายสัมปทานเพิ่มอีก 22 ปี 5 เดือน ทำให้สัมปทานทั้งหมดรวมกันจะจบที่ปี 2601

นายชยพล กล่าวว่า สำหรับเหตุผลของการต่ออายุสัมปทาน รมว.คมนาคม อ้างว่าเพื่อลดราคาค่าทางด่วน โดยยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่ามีหลายสิ่งที่น่าข้องใจ เช่น บอกว่าไม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชน แต่นี่คือการเจรจาต่อสัมปทานโดยไม่มีการประกวดราคาใหม่ ทั้งที่สามารถรอให้สัมปทานเดิมหมดอายุก่อนก็ได้ เพราะปกติทุกการลงทุน เอกชนจะต้องวางแผนคำนวณจุดคุ้มทุนหรือจุดที่จะได้กำไรอยู่แล้วตามอายุสัมปทานที่มี ดังนั้นเมื่อหมดอายุสัมปทาน โครงสร้างของทางด่วนก็ควรกลับมาเป็นของรัฐ รัฐสามารถบริหารจัดการให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนได้ เช่นอาจให้ขึ้นทางด่วนฟรี หรืออาจเก็บเงินเพื่อเอารายได้มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ หรืออาจมองว่าไม่สามารถบริหารจัดการเองได้เองเลยเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ

แต่ตอนนี้กลับเกิดความดันทุรัง จะเร่งเซ็นสัญญาให้ได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังติดปัญหาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการเวนคืนที่ดิน เช่นบริเวณใกล้สถานีกลางบางซื่อ มีประชาชนที่คัดค้านการสร้าง Double Deck เพราะได้รับผลกระทบจากการสร้างทางด่วนรอบแรก ปัญหาสำคัญคือเมื่อมีการสร้างทางด่วน พื้นที่ใต้ทางด่วนก็จะเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แทนที่ประชาชนจะได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน หรือพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ก็ไม่สามารถทำได้

นาบชยพล กล่าวว่า ดังนั้นหากรีบเซ็นภายในปีนี้ เชื่อว่าจะติดปัญหาทั้งเรื่องอีไอเอ การเวนคืน และเสียงคัดค้านของประชาชน แล้วหากโครงการไม่สามารถเดินหน้าตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ในสัญญาที่จะเซ็นกัน ก็จะทำให้เกิดผลกระทบตามมาต่อรัฐบาล เช่น ค่าปรับ มูลเหตุการฟ้องร้องคดี หรือการหาเรื่องขยายสัมปทาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ของการที่รัฐบาลไม่ได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ให้ประชาชนเป็นเพียง “ทางผ่าน” ไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงคือการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนรายเดิมเพิ่มเติม

ด้านนายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ทั้งสองเรื่องข้างต้นมีความพยายามคล้ายกันที่จะหาข้ออ้าง เช่น ลดราคา เพิ่มส่วนต่อขยาย แต่เนื้อหาที่แท้จริงคือการหาเหตุในการขยายสัญญาสัมปทาน เก็บเงินจากประชาชนเข้ากระเป๋านายทุนมากขึ้นหรือนานขึ้น โดยผู้มีอำนาจไม่ว่าจะ ครม. รัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือหัวหน้าหน่วยงานราชการ ทำไมจึงยอมให้นายทุนหาผลประโยชน์จากประชาชนมากมายขนาดนี้ 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า สัมปทานคือสัญญา ในระหว่างสัญญาก็ควรปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งเมื่อหมดสัญญาแล้วก็ควรจบเลย กลับมาเป็นของรัฐแล้วคิดโครงสร้างราคาใหม่ที่สมเหตุสมผลมากขึ้น โดยหากจะให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการต่อก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช่ปิดห้องเจรจาลับแล้วหาเหตุขยายสัมปทานให้เจ้าเดิม ทั้งนี้ หากรัฐบาลอยากลดราคาจริง โดยไม่แอบพ่วงโครงการ Double Deck ก็สามารถทำได้โดยปรับสัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างรัฐกับเอกชน โดยไม่ต้องขยายสัมปทานแม้แต่ปีเดียว

สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือน ส.ค. นี้ คือ รัฐบาลมีแผนที่จะนำเรื่องการขยายสัมปทานทางด่วนชั้นที่ 2 เข้าที่ประชุม ครม. อันจะเป็นอีกครั้งที่เกิดการเอื้อประโยชน์ครั้งใหญ่ให้นายทุน เป็นการหาสร้าง Double Deck เพื่อแลกกับการขยายสัมปทานออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ทั้งที่สัญญาสัมปทานปัจจุบันยังเหลืออีกถึง 11 ปี ทำให้สัมปทานลากยาวไปถึง 31 มี.ค. 2601 โดยไม่มีการแข่งขัน จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันจับตา รักษาผลประโยชน์ของประเทศ 

สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัญหาทางด่วนโดยเนื้อแท้คล้ายกับปัญหารถไฟฟ้า คือที่ผ่านมารัฐเอานายทุนผู้รับสัมปทานเป็นตัวตั้ง มองทางด่วนเป็นท่อนๆ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายหลายท่อนแล้วรู้สึกแพง ถ้าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องคิดเรื่องโครงสร้าง “ค่าผ่านทางร่วม” ซึ่งพรรคก้าวไกลเคยเสนอไปแล้วตอนยื่น พ.ร.บ.ถนน แต่ก็โดนรัฐบาลปัดตกไปอย่างไร้เหตุผล ดังนั้น เราต้องทวงคืนทางด่วน หมดสัมปทานต้องคืนรัฐ หากจะให้เอกชนร่วมดำเนินการ ก็ต้องเกิดการประมูลใหม่อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส เลิกหากินกับการปะผุปัญหาด้วยการหาเรื่องขยายสัมปทาน แต่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน.