“บรมราชาภิเษก” ถือเป็น “พระราชพิธีสำคัญยิ่งแห่งองค์ราชาที่เสด็จขึ้นครองราชย์” ซึ่งสำหรับ การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในปี พ.ศ. 2562 นั้น นับแต่ก่อนการพระราชพิธี จวบจนเสร็จสิ้นและหลังการพระราชพิธี ยังถือเป็น “เหตุการณ์สำคัญยิ่งของประเทศไทย” และ ประชาชนคนไทยมีโอกาสได้ใกล้ชิดเหตุการณ์อันสำคัญยิ่งนี้อย่างมาก ด้วย ทั้งนี้ ปวงไทยได้มีโอกาสเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี “ในหลวงรัชกาลที่ 10” อย่างใกล้ชิด นำมาซึ่งความปลื้มปีติล้นพ้นยิ่งต่อปวงไทย…

‘ถวายราชสดุดี’ ๗๒ พรรษา เทิดองค์ราชา ‘ทรงพระเจริญ’ (๑)

‘ถวายราชสดุดี’ ๗๒ พรรษา เทิดองค์ราชา ‘ทรงพระเจริญ’ (๒)

‘ถวายราชสดุดี’ ๗๒ พรรษา เทิดองค์ราชา ‘ทรงพระเจริญ’ (๓)

ย้อนไปช่วงการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ช่วงเช้า มีพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า… “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” โปรดเกล้าฯ ให้ เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนี ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า… “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” โปรดเกล้าฯ ให้ เฉลิมพระนามาภิไธยพระโสทรกนิษฐภคินี 2 พระองค์ เป็น… “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”  และ… “สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” โปรดเกล้าฯ ให้ สถาปนาและเฉลิมพระนามพระราชธิดา 2 พระองค์ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า… “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี” และ… “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” โปรดเกล้าฯ ให้ สถาปนาและเฉลิมพระนามพระราชโอรส ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า… “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร”

ทั้งนี้ ช่วงเย็น เวลา 17.03 น. “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดย “ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย สายสะพายจักรี สายสร้อยจุลจอมเกล้า ทรงพระมาลาเส้าสูง ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี ประทับพระราชยานพุดตานทอง พร้อมขบวนพระราชอิสริยยศ กองทหารเกียรติยศ ยาตราไปยังวัดบวรนิเวศวรวิหาร ทรงถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต่อมาขบวนพยุหยาตราฯ ยาตราไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 พระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงถวายสักการะพระอัฐิ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) พระราชอุปัธยาจารย์ ต่อมาขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคยาตราไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และจากวัดพระเชตุพนฯ ทรงยาตราริ้วขบวนเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

“ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ครั้งนี้ ใช้ระยะทาง 7.15 กิโลเมตร เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญยิ่งของชาติไทย ซึ่งนานาอารยประเทศต่างแซ่ซ้องพระบารมี

ในวันที่ 3 ของ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในส่วนหลัก วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ช่วงเย็น เวลา 16.54 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร จากพระที่นั่งอัมพรสถาน ไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จขึ้นท้องพระโรงพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในการนี้ พระอนุวงศ์ องคมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ และคณะบุคคลทางศาสนาต่าง ๆ ผู้แทนคณะพาณิชย์ต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ทูลเกล้าฯ ถวายซองบรรจุคำถวายพระพร

ครั้นถึงเวลา 16.59 น. นับเป็น อีกช่วงเวลาประวัติศาสตร์แห่งไทย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 “เสด็จออกสีหบัญชร” พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท โดย พสกนิกรไทยมีโอกาสเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี แสดงความจงรักภักดี เสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องยาวนาน ธงชาติไทย ธงพระปรมาภิไธย วปร ธงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สะบัดพลิ้วปลิวไสวท่ามกลางแสงแดดอบอุ่น การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแย้มพระโอษฐ์และทรงโบกพระหัตถ์ทักทายพสกนิกรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลแทนราษฎรทุกหมู่เหล่า วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เหล่าพสกนิกรเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องอีกครั้ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ ความว่า… “…ข้าพเจ้าและพระราชินีรู้สึกยินดีและปลื้มใจมาก ที่ได้เห็นประชาชนทั้งหลาย มีไมตรีจิตพร้อมเพรียงกันมาร่วมแสดงความปรารถนาดีในวาระบรมราชาภิเษกของข้าพเจ้าครั้งนี้ ความพร้อมเพรียงของท่านทั้งหลาย ผู้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้ เพื่ออวยชัยให้พรแก่ข้าพเจ้าด้วยน้ำใจไมตรีและความปรารถนาดีอย่างจริงใจนั้น เป็นที่จับตาจับใจ และทำให้ข้าพเจ้าอิ่มใจอย่างยิ่ง ขอให้ความพร้อมเพรียงของท่านทั้งหลายในการแสดงไมตรีจิตแก่ข้าพเจ้าครั้งนี้ จงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคนทุกฝ่ายจะพร้อมกันบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติของเราต่อไป ขอขอบใจในคำอำนวยพร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในนามของทุกคน และขอสนองพรให้ทุก ท่านมีความผาสุกสวัสดี พร้อมทั้งความสำเร็จในสิ่งอัน พึงปรารถนา จงทั่วกัน…” จากนั้นเพลงสรรเสริญพระบารมี และเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องอีก

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโบกพระหัตถ์อีกครั้ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาและพระราชโอรสเสด็จออกสีหบัญชร ซึ่งทั้ง 3 พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ด้วย ยังความปลื้มปีติยิ่งแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า

ต่อมา เวลา 17.34 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต กงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศในไทย รวม 130 ประเทศ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก 235 คน เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ ความสำคัญตอนหนึ่งว่า… “…ขอขอบใจในน้ำใจไมตรีของท่านทั้งหลาย ที่ได้แสดงความปรารถนาดีต่อเราทั้งสองประเทศ และประชาชนชาวไทย ทั้งยังแสดงความตั้งใจจริงที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในประการนี้ ขอให้ท่านมั่นใจได้ว่า ท่านจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลและประชาชนคนไทย และข้าพเจ้าเองจะพยายามส่งเสริมสัมพันธไมตรีที่มีอยู่ ให้ยิ่งเจริญงอกงามและธำรงยั่งยืนสืบไป…” จากนั้นทรงมีพระราชปฏิสันถารกับคณบดีคณะทูต สมควรแก่เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

องค์มิ่งขวัญปกเกล้าปวงไทย “ในหลวงรัชกาลที่ 10” ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์มีพระราชดำรัสถึงประชาชนไทยในโอกาสต่าง ๆ โดยตลอด ฉายชัดถึงน้ำพระทัยเมตตาที่ทรงมีต่อปวงไทยล้นพ้นยิ่ง…  

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน