“มหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชจักรีวงศ์ วันที่ 28 กรกฎาคม เวียนบรรจบ” ทั้งนี้ สำหรับปี พ.ศ. 2567 นี้ เป็นวโรกาส “มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา” ซึ่งยิ่งเป็นมหามงคล และยิ่งนับเป็นโอกาสอันสำคัญที่ปวงพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า จะได้น้อมจิตรวมใจร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่ง “ในหลวงรัชกาลที่ 10” อันล้นพ้นยิ่งหาที่สุดมิได้…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระผู้ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยนับแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ว่า… “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระโสทรเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีพระโสทรกนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17 นาฬิกา 45 นาที พสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่าต่างปลื้มปีติเป็นล้นพ้นยิ่ง เมื่อได้รับทราบข่าวมหามงคลยิ่งแห่งราชอาณาจักรไทย “พระราชโอรสแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชสมภพ” ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พสกนิกรไทยที่เฝ้ารอคอยพระประสูติกาลต่างปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัส และแซ่ซ้องในพระบุญญาธิการ ทั้งนี้ ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติ ที่กองทัพบกจัดพิมพ์เนื่องในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พันตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ได้รวบรวมบันทึก “เหตุการณ์สำคัญช่วงพระประสูติกาล” ไว้ ซึ่งบางช่วงบางตอนและโดยสังเขปนั้นมีว่า…

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ก่อนเวลาที่จะทรงมีพระประสูติกาล อากาศครึ้ม… “ดอกรวงผึ้ง” สีเหลืองอร่ามประดุจสีทองซึ่งปลูกไว้ติดกับห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และห้องประสูติกาล ออกดอกสะพรั่งส่งกลิ่นหอมตลบ (อุทยานหลวงราชพฤกษ์ บันทึกไว้ว่า ดอกรวงผึ้งเป็นพรรณไม้ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 10) และตั้งแต่เวลา 09.00 น. มีข่าวสะพัดไปทั่วกรุงเทพฯ ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประชวรพระครรภ์ ซึ่งบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และสนามเสือป่า มีประชาชนไปรอคอยฟังข่าวพระประสูติกาลอย่างเนืองแน่น

ตามโบราณราชประเพณีนั้น การที่สมเด็จพระอัครมเหสีจะทรงมีพระประสูติกาลพระรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ จำเป็นต้องมีราชสักขีหรือพยาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งราชสักขี ประกอบด้วย พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เป็นประธาน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พลเอกพระประจนปัจจนึก ประธานสภาผู้แทนราษฎร พลตรีบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีมหาดไทย พระยาบริรักษ์เวชการ รัฐมนตรีสาธารณสุข หม่อมทวีวงศ์ ถวัลยศักดิ์ เลขาธิการสำนักพระราชวัง ทำหน้าที่ราชสักขี โดยเมื่อทรงมีพระประสูติกาล ทางเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะทำเอกสารรับรู้ของผู้เป็นราชสักขีไว้เป็นหลักฐานเก็บไว้ที่สำนักพระราชวัง 1 ฉบับ สภาผู้แทนราษฎร 1 ฉบับ และกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 1 ฉบับ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมทำบัตรขนาดกว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 2 นิ้วครึ่ง ไว้ 2 แผ่น ซึ่งมีสีต่างกัน คือ สีฟ้า กับสีชมพู โดยบัตรสีฟ้า หมายถึง ประสูติเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ มีอักษรตัวพิมพ์ตัวใหญ่ว่า “พระราชโอรส” อยู่ใต้พระมหามงกุฎ บัตรสีชมพู หมายถึง ประสูติเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง มีคำ “พระราชธิดา”

ในวันอันสำคัญยิ่งนั้น มีราชสักขีเข้าประชุมพร้อมกัน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จฯ ถึงพระที่นั่งอัมพรสถานก่อนเที่ยงเล็กน้อย โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับอยู่บริเวณอันใกล้ชิด ทรงสนพระราชหฤทัยพระประสูติกาลยิ่งกว่าผู้ใดทั้งสิ้น ทรงเตรียมเครื่องอัดแผ่นเสียงและกล้องสำหรับการนี้ไว้อย่างพร้อมมูล

เมื่อเวลาบ่ายมากเข้า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระประชวรพระครรภ์ถี่ขึ้นเป็นระยะ ๆ แพทย์ผู้ถวายการพระประสูติก็เข้าประจำที่ สักครู่ก็ประสูติพระราชโอรส ในเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ซึ่งด้วยอารามตื่นเต้น นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกกล่าวแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ว่า “พระราชโอรส” หรือ “พระราชธิดา” ได้กล่าวด้วยเสียงอันตื่นเต้นว่า “ผู้ชาย” แทนที่จะใช้ว่า “พระราชโอรส” ขณะที่ความปลื้มปีติได้บังเกิดขึ้นทั่วไทย แม้แต่เจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลก็ตื่นเต้นจนประกาศออกมาอย่างละล่ำละลักว่าพระประสูติกาลนั้น เป็นวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 แทนที่จะเป็น 2495 ทั้งนี้ ในเวลาประสูตินั้น ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูได้เริ่มโปรยละอองลงมาเป็นอัศจรรย์ หลังมีพระประสูติกาล สายฝนก็ยังคงโปรยปรายอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบกบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ปืนใหญ่ทั้งทัพบกและทัพเรือยิงสลุต 21 นัด เสียงไชโยโห่ร้องดังกึกก้องทั่วแผ่นดินไทย

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติใหม่ ทรงถือเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกที่ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 16 ชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงถ่ายพระรูปฝีพระหัตถ์ พระราชทานแก่ประชาชนผ่านทางหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และต่อมาได้พระราชทานอีกเป็นระยะ ๆ ยังความปีติแก่พสกนิกรเป็นอันมาก

ต่อมาเมื่อทรงเจริญพระชนมายุ 1 เดือน 18 วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด “พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่” ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต วันที่ 14-15 กันยายน โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ เย็นวันที่ 14 กันยายน

ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2495 มีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เมื่อถึงพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทอง ลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศตามประเพณีพิธีพราหมณ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณี และพระมหาราชครูเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอขึ้นพระอู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท เวียนเทียนครบรอบตามประเพณี โดยมีการจัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ และได้มีการถ่ายทอดเสียงผ่านทางวิทยุไปทั่วประเทศไทย

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงเจริญพระชนมายุ ได้ 1 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า… สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยา ดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมารโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงตั้งพระนามนี้ถวายตามดวงพระชะตา

องค์บรมขัตติยราชกุมารแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงสืบสันตติวงศ์ทรงราชย์เป็น “ในหลวงรัชกาลที่ 10 แห่งราชจักรีวงศ์” ทรงเป็นมิ่งขวัญมหามงคลยิ่งของพสกนิกรไทย นับแต่ทรงมีพระประสูติกาลสืบมา…

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน