เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สระน้ำกลางวัดสว่างอารมณ์ หมู่ 9 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รองผู้บังคับการปราบปราม รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจน้ำ นำกำลังตำรวจน้ำกว่า 50 นาย ร่วมกับฝ่ายปกครอง อ.บางบ่อ และชาวประมงพื้นบ้าน ช่วยกันใช้อวนล้อมจับปลาหมอคางดำและปลาหมอมายัน หลังมีชาวบ้านสงสัยว่าอาจจะมีปลาสายพันธุ์นักล่าเหล่านี้ แอบลักลอบเข้ามากัดกินสัตว์น้ำในสระของวัดที่เลี้ยงไว้สูญพันธุ์ และอาจกลายเป็นที่วางไข่ขยายพันธุ์ สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงกับวัด

โดยสระน้ำกลางวัด มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ทีมงานไล่ล่าใช้อวนลงไปวางล้อมไว้ข้างสระ แล้วใช้ไม้ไผ่ตีน้ำให้กระจาย เพื่อให้ปลาตกใจ ว่ายไปติดอวน ใช้เวลาในการจับประมาณ 1 ชั่วโมง จึงกู้เก็บขึ้นมาช่วยกันแกะปลาออกจากอวน รวมแล้วได้ปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายัน ประมาณร้อยกว่ากิโลกรัม รวมทั้งมีปลาหมอเทศ ซึ่งเป็นปลาท้องถิ่น ติดรวมมาด้วยเล็กน้อย

นายชัยณรงค์ เดชด่านสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า บ่อนี้อยู่กลางวัด หลังมีข่าวการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศ ทำให้ทีมงานสมาคมประมงคลองด่านและชาวประมงพื้นบ้าน จึงทดลองนำแหมาทอด ได้ปลาหมอคางดำขึ้นมาจริง จึงนำเรียนขออนุญาตกับเจ้าอาวาส พร้อมประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ ฝ่ายปกครอง และชาวประมงพื้นบ้านร่วมกันลงมือจับ ส่วนสาเหตุที่ปลาหมอคางดำ เข้ามาอยู่ในสระน้ำกลางวัดได้อย่างไรนั้น สันนิษฐานว่า เมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงท่วมถนนหน้าวัด แล้วไหลทะลักเข้ามาในสระน้ำด้านใน อาจนำพาปลาหมอคางดำเข้ามาด้วย จึงทำให้ขยายพันธุ์อยู่ในสระน้ำกลางวัดแห่งนี้ โดยวันนี้จับขึ้นมาได้เพียงบางส่วน ประมาณร้อยกว่ากิโลกรัม น่าจะยังมีเหลืออยู่อีกมาก คงต้องปรึกษากันก่อนว่าจะวางแผนทำอย่างไรต่อไป

พ.ต.อ.พรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ มาร่วมกับฝ่ายปกครองและชาวประมงพื้นบ้าน ต.คลองด่าน ช่วยกันจับปลาหมอคางดำ ในสระน้ำกลางวัด ที่สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศ โดยจับขึ้นมาได้เป็นจำนวนมาก มีทั้งปลาหมอคางดำและปลาหมอมายัน ส่วนปลาเหล่านี้ ได้ส่งมอบให้กับชาวประมงพื้นบ้านรับไปดำเนินการต่อ ส่วนจะแปรรูปอย่างไร ก็แล้วแต่ความเหมาะสม พร้อมทั้งฝากประชาสัมพันธ์ หากพื้นที่ใดมีปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และต้องการกำลังจากตำรวจน้ำ สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์เข้ามาได้ ยินดีให้ความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน

นายบรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ผอ.โรงเรียนนอกกะลา และกลุ่มเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย กล่าวว่า จะนำปลาหมอคางดำเหล่านี้ ตัดหัวนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ลำตัวจะแปรรูปเป็นของแห้ง นำส่งไปให้กับพี่น้องที่อยู่บนดอยสูงในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำเป็นประจำอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่เมื่อเราส่งอาหารทะเลไปให้คนที่อยู่ในป่าและอยู่บนดอย เขาก็จะส่งผัก ผลไม้ ในท้องถิ่นของเขา เช่น ฟักทอง ผักต่าง ๆ กลับลงมาให้เรา เพื่อให้กระจายไปสู่พี่น้องที่อยู่ริมทะเล ได้ลิ้มรสของในป่าบนดอยสูง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในสังคมปัจจุบัน