เมื่อวันที่ 26 ก.ค.นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้มอบหมายให้ นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผอ.สำนักติดตามฯ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ศูนย์ความปลอดภัย มาเป็นประธานพิธีเปิดโครงการจัดทำแผนรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาแบบบูรณาการ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อเร่งสร้างปฏิบัติการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดครอบคลุมสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน โดยเน้นระบบการป้องกันและการคัดกรองผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ โทษยาเสพติด เพื่อการดูแลที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ของผู้เรียนรายบุคคล ลดนักเสพหน้าใหม่ ตลอดจนถึงการบำบัดรักษา ซึ่งในการจัดทำแผนปฏิบัติการของสถานศึกษาจะมีรูปแบบวิธีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นต้น

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบาย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข ด้านการส่งเสริมความปลอดภัยผู้เรียนที่ต้องส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกแห่งมีรูปแบบ วิธีการ หรือกระบวนการ ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครอง ความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเอง จากภัยอันตรายต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค. 2567 ณ วิทยาลัยการอาชีพบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีนายสมชาย อินทร์ปรางค์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพบุรีรัมย์พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ครู และเจ้าหน้าที่จากสถานศึกษาศึกษาภาครัฐ และภาคเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมเขียนแผนฯ จำนวน 42 แห่ง และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายให้ความรู้เรื่อง แนวทางการนำนโยบายและกฎหมายยาเสพติดสำหรับใช้บูรณาการป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษาอาชีวศึกษาและบรรยายเรื่องกระบวนการปรับพฤตินิสัยวัยรุ่นให้ปลอดภัยจากยาเสพติดบูรณาการ TO BE NUMBER ONE มาถ่ายทอดประสบการณ์กิจกรรม กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าแสดงออก ให้ผู้เรียนปลอดภัยห่างไกลจากยาเสพติด ทั้งนี้แผนการดำเนินงานดังกล่าว สถานศึกษาจะนำไปใช้ในปีงบประมาณ 2567 นี้ ต่อไป

นายทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า สอศ.ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากเพราะปัญหายาเสพติดส่งผลกระทบต่อการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สุขภาพกายสุขภาพจิต การเรียน ปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาสังคมอื่นๆ รวมไปถึงกระทบความมั่นคงของประเทศชาติ
ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงเร่งดำเนินการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สถานศึกษามีความปลอดภัยตามนโยบายเรียนดีมีความสุข ของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อไป