นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดอีวี มีมติเห็นชอบได้เห็นชอบ มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบไฮบริดหรือเอชอีวี ให้อยู่ในระดับคงที่เป็นเวลา5 ปี หรือตั้งแต่ปี 71-75 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 2% ในทุก 2 ปี 

สำหรับมาตรการนี้คาดว่าจะมีค่ายรถยนต์สนใจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5 ราย สร้างเม็ดเงินลงทุนในช่วง 4 ปี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รักษาและต่อยอดฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยและเพิ่มความเข้มแข็งของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ครบวงจรระดับโลก โดยปัจจุบันมีบริษัทผลิตรถยนต์ไฮบริด 7 ค่าย ที่ผลิตรถยนต์ในไทย แยกเป็นค่ายรถยนต์จากจีน 3 ราย และญี่ปุ่น 4 ราย  

ทั้งนี้บริษัทผลิตรถยนต์ไฮบริดที่ประสงค์จะรับสิทธิจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ด้าน ได้แก่
1.ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เกิน 120 กรัมต่อกิโลเมตร สำหรับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร อัตราภาษีสรรพสามิต 6% และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 101-120 กรัมต่อกิโลเมตร อัตราภาษีสรรพสามิต 9% 

2.ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือบริษัทในเครือในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 67-70 ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท  

3.ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยรถยนต์ไฮบริดรุ่นที่ขอรับสิทธิ ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 69 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ ตั้งแต่ปี 71 เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง 3 ชิ้น ได้แก่ แทรคชั่นมอเตอร์, รีดัคชั่น เกียร์, อินเวอร์เตอร์และชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าปานกลาง 8 ชิ้น อาทิ ระบบการจัดการแบตเตอรี่หรือบีเอ็มเอส, ระบบควบคุมการขับขี่หรือดีซียู, คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หรือบีอีวี, อิเล็คทริคอลเซอร์กิตเบรกเกอร์, ดีซี/ดีซี คอนเวอร์เตอร์, ชุดสายไฟแรงดันสูง, ระบบจัดการความร้อน, ระบบการเบรกเพื่อชาร์จไฟ โดยจะขึ้นกับมูลค่าการลงทุน  

4.ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะในรถยนต์ไฮบริดรุ่นที่ขอรับสิทธิ อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ คือ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูงหรือเออีบี ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถหรือเอฟดับบลิว ระบบการดูแลภายในช่องจราจรหรือแอลเคเอเอส ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจรหรือแอลดีดับบลิว ระบบการตรวจจับจุดบอดหรือบีเอสดี และระบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์หรือเอซีซี 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า มาตรการนี้จะทำให้สูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีตลอดการดำเนินมาตรการ 5,000-10,000 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฮบริดของภูมิภาค และมีโอกาสเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการนี้ จะทำให้มีการผลิตรถไฮบริดในไทยมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้บอร์ดอีวียังได้รับทราบผลของมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลตามที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตยานยนต์บีอีวี ประเภทต่าง ๆ แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการอีวี 3 และอีวี 3.5 โดยกรมสรรพสามิต มีผู้เข้าร่วมมาตรการจำนวน 24 แบรนด์ คิดเป็นจำนวนยานยนต์ทุกประเภทรวมกันกว่า 1.18 แสนคัน

สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบบีอีวี ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 มีจำนวน 37,679 คัน เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จดทะเบียน 13,634 คัน เพิ่มขึ้น 38% โดยขณะนี้มียานยนต์บีอีวี ทุกประเภทจดทะเบียนสะสมในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 183,236 คัน