เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ชุมชนบุญร่มไทร กทม. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย คดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ว่า ยังมั่นใจในข้อเท็จจริง และความสม่ำเสมอของระบบยุติธรรม โดยสิ่งที่พรรคก้าวไกลต่อสู้คือ ข้อกฎหมาย ซึ่งพรรคก้าวไกลชี้ให้เห็นว่า กรณีของพรรคก้าวไกลต่างจากการยุบพรรคในอดีต เพราะมีระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อปี 2566 และ กกต.ต้องดำเนินการตามระเบียบ แต่ กกต. ไม่ได้ดำเนินการเช่นนั้น จึงทำให้พรรคก้าวไกลเสียโอกาสในการชี้แจง ตั้งแต่ต้นทางของระบบยุติธรรม 

นายพิธา กล่าวว่า ถ้าหาก กกต.ทำตามระเบียบ มีโอกาสให้รับทราบข้อเท็จจริง และต่อสู้ตั้งแต่ชั้นของ กกต. อาจจะไม่มีคดีนี้เกิดขึ้น และวันนี้ตัวเองเสียโอกาสนี้ไปแล้ว และเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม แล้ว กกต.จะรับผิดชอบอย่างไร

ส่วนคดียื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยในเดือน ส.ค.เช่นกัน มองสถานการณ์การเมืองอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า หากมองในมุมระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง สิ่งที่ทำลายสมาธิ ทั้งพรรคก้าวไกล และนายกรัฐมนตรีเอง ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ใช้เวลาไปกับการเสียสมาธิกับการแย่งชิงอำนาจและการเข้าสู่อำนาจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาของประชาชนหมักหมม คาราคาซังมานาน

นายพิธา กล่าวด้วยว่า หากพรรคการเมืองจะเกิดการยุบสลายไป ก็ต้องเกิดเพราะไม่มีคนเลือก ประชาชนสร้างขึ้นมา ก็ต้องเป็นผู้พิพากษาพรรคการเมือง เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากนโยบาย ก็ต้องรับผิดชอบด้วยมาตรฐานทางการเมือง หากรู้ว่าผิดก็ควรจะลาออกแล้วเปิดทางให้คนอื่น แต่ไม่ควรที่จะให้องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย ไม่ใช่มีหน้าที่ทำลายประชาธิปไตย ควรจะให้เป็นไปตามระบบครรลองคลองธรรมของประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีจะต้องหลุด เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงผลการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา 2 คน มีผลคะแนนเป็นกลุ่มก้อน ระดับ 150-160 คะแนน มองอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า สังคมมีข้อครหาในเรื่องเอกภาพและอิสระของความเป็น สว. ก็ต้องมาดูกันต่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร ตามที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เตรียมยื่นเข้าสู่สภา จะต้องมีการประชุมร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยจะมีการอภิปรายทั้งสองฝ่าย และจะได้ดูว่า สว.ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนมากนัก จะทำเพื่อประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนอุปสรรคที่กฎหมายฉบับต่างๆ จะต้องผ่าน สว.ชุดนี้นั้น นายพิธา กล่าวว่า ขอให้ดูต่อไป เพราะไม่อยากสรุปในสิ่งที่ตนไม่ได้ติดตาม หรือเรื่องที่จะรู้ว่าใครต่อใครคิดอย่างไร แต่ย้ำว่ามีวิธีที่จะทดสอบ คือการแก้รัฐธรรมนูญ จะรวมไปถึงรัฐบาลด้วย ว่าคำสัญญาที่เคยให้กับประชาชนไว้จะเป็นอย่างไร และจะเป็นประโยชน์กับประชาชนที่กังวลว่าจะเกิดการรัฐประหารในปี 2567 นี้ หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของชาวบ้าน นายพิธา กล่าวว่า เสียดายที่ไม่ได้เข้าทำเนียบรัฐบาล เพราะกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกระทรวงความมั่นคง เป็นกระทรวงที่พรรคก้าวไกลอยากจะเข้าไปบริหารเมื่อครั้งมีการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อผลักดันแก้ปัญหาในหลายเรื่อง.