กรณี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยื่นหนังสือให้ข้อมูลคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แจงละเอียดทุกขั้นตอนการนำเข้าลูกปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว จากประเทศกานา ตั้งแต่ปลามาถึงไทยจนถึงทำลายฝังซากและส่งซากปลาให้กรมประมง ผ่านการตรวจสอบและตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมฯ และในปี 2560 มีข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า มีการพบปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่สมุทรสงคราม กรมประมงจึงได้เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 

เปิดต้นตอ “ปลาหมอคางดำ” เอกสารนำเข้าปี 2549 ก่อนเกิดการระบาด(ตอนที่ 1)

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบเอกสารของกรมประมงพบว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงจึงได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มยี่สารปลาทับทิม-ปลานิล ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สงมุทรสงคราม เพื่อตรวจสอบหลังพบการแพร่ระบาดของปลาหมดคางดำ โดยระบุว่า คณะผู้ตรวจเยี่ยมของกรมประมงจำนวน 5 ท่าน ได้เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มยี่สารปลาทับทิม-ปลานิล ซึ่งเป็นฟาร์มอนุบาลปลาทับทิมและปลานิล อยู่ภายใต้การ ดูแลของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) โดยคณะผู้ตรวจเยี่ยมได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการตรวจเยี่ยมฟาร์มครั้งนี้ เพื่อขอข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าปลาหมอสีคางดำ ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับปลานิล และปลาหมอเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron และขอทราบจำนวนลูกปลาที่ทางฟาร์มฯ นำเข้ามาเลี้ยง จำนวนและลักษณะบ่อที่ใช้เลี้ยง และการบริหารจัดการดูแลระหว่างการเลี้ยงขณะอยู่ในฟาร์ม โดยมีสาระสำคัญดังนี้

มีเจ้าหน้าที่ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูล และชี้แจงภาพรวมเกี่ยวกับการจัดการฟาร์มกรณีมีการนำสัตว์น้ำหรือปลาเข้ามายังฟาร์ม

1. ระบบการเลี้ยงภายในฟาร์มเป็นระบบปิดและใช้น้ำหมุนเวียน โดยก่อนนำน้ำมาใช้จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อ ซึ่งปัจจุบันฟาร์มมีการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่เดิมให้เหมาะสมกับการเลี้ยงโดยเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการฟาร์ม

2. วัตถุประสงค์ของการนำปลาสายพันธุ์ Sarotherodon melanotheron เข้ามาภายในฟาร์มเพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลที่มีอยู่เดิมให้ทนต่อความเค็มที่สูงขึ้น โดยจะนำปลาชนิดนี้มาผสมกับปลานิล ที่มีการเจริญเติบโตดี แต่ไม่สามารถเลี้ยงที่ระดับความเค็มสูงเกิน 15 พีพีที ได้ ฟาร์มจึงขออนุญาตซื้อลูกปลา ขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ 0.25 กรัม จากประเทศกานา จำนวน 5,000 ตัว โดยได้รับใบอนุญาตให้สามารถนำเข้าได้ในปี 2551 แต่เนื่องจากประสบปัญหาด้านเอกสารการส่งออกของประเทศกานา และการรวบรวมพันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้จำนวนที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน จึงไม่สามารถนำเข้ามาในปี 2549 ได้ แต่สามารถนำเข้ามาได้ในปี 2553 โดยมีเอกสารการขอส่งปลา (Certificate) ระบุจำนวนที่นำเข้า 4,000 ตัว และก่อนถึงวันกำหนดส่ง ทางบริษัทได้แจ้งว่ามีปลาจำนวนเพียง 2,000 ตัว ที่ได้จัดส่งมา เนื่องจากระยะทางจากสถานที่รวบรวมปลามายังสนามบินของประเทศกานามีระยะทางไกล และใช้ระยะเวลาขนส่งกว่าจะถึงประเทศไทย โดยปลาส่งมาถึงประเทศไทยในวันที่ 22 ธันวาคม 2553 เมื่อผ่านด่านศุลกากรแล้วพบว่ามีปลาตายประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อถึงฟาร์มได้คัดแยกปลาที่ตาย เหลือเฉพาะปลาที่มีชีวิตซึ่งอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง ประมาณ 600 ตัว จึงปล่อยลงบ่อซีเมนต์ขนาดความจุน้ำ 8 ตัน จากนั้นพบว่าปลาทยอยตายอย่างต่อเนื่องจนหมดหลังจากปลาทั้งหมดตาย ฟาร์มไม่ได้แจ้งให้กรมประมงทราบเป็นลายอักษร

3. ปลาที่ตายจะแช่สารละลายฟอร์มาลินเข้มข้นร้อยละ 40 จากนั้นนำไปฝังกลบ เนื่องจากปลาไม่แข็งแรง จึงไม่ได้สุ่มชั่งน้ำหนักระหว่างการเลี้ยง และเมื่อปลาตายทั้งหมด ฟาร์มไม่สามารถดำเนินการทดลองต่อได้ จึงไม่มีการรายงานความก้าวหน้าระหว่างการเลี้ยงให้กรมประมงทราบ มีเพียงการจัดส่งตัวอย่างเท่านั้นโดยตามข้อกำหนดระบุให้ตัดครีบส่ง แต่ทางฟาร์มฯ ได้ส่งตัวอย่างปลาทั้งตัวที่แช่สารละลายฟอร์มาลิน เนื่องจากปลามีขนาดเล็กน้ำหนักตัวละประมาณ 1 กรัม บรรจุลงขวด จำนวน 2 ขวด ขวดละประมาณ 25 ตัว โดยจัดส่งตัวอย่างให้กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กรมประมง ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ภายหลังจากการนำเข้า โดยได้ประสานงานการส่งตัวอย่างกับนักวิชาการประมงชำนาญการ ซึ่งครั้งนั้นได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับตัวอย่างแทน แต่ทางฟาร์มฯ ไม่ได้ทำเอกสารการนำส่งตัวอย่างแนบมาพร้อมกับตัวอย่าง

4. การจัดการระหว่างการเลี้ยง สำหรับการเลี้ยง ฟาร์มได้เตรียมบ่อซีเมนต์ขนาดความจุน้ำ 8 ตัน จำนวน 3 บ่อ ซึ่งอยู่ด้านหลังสำนักงาน แต่เนื่องจากปลาเหลือปริมาณน้อย และมีขนาดเล็ก จึงทำการเลี้ยงเพียงบ่อเดียว โดยน้ำทิ้งที่ออกมาจากบ่อเลี้ยงจะถ่ายไปยังบ่อพักน้ำรวมก่อน จากนั้นฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน 100 ppm ก่อนปล่อยออกไปยังคลองน้ำทิ้งภายในฟาร์ม ซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำที่ถ่ายออกมาจากบ่อเลี้ยงอื่นๆ มารวมกัน เพื่อให้น้ำไหลไปตามคลองและทยอยตกตะกอนไปเรื่อยๆ ก่อนจะถูกสูบเข้าสู่บ่อพักน้ำและนำกลับมาใช้ใหม่

5. จุดฝังกลบซากปลา เดิมอยู่บริเวณคันบ่อซึ่งปัจจุบันได้ทำเป็นอาคารสำหรับงานทดลองเลี้ยง ปลาใหญ่ขนาด 100-500 กรัม (House Step 5) R1 เป็นบ่อพักน้ำที่รับน้ำหมุนเรียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle-สีน้ำเงิน) และรับน้ำใหม่จากคลองธรรมชาติมีท่อลอดเชื่อมต่อกันระหว่าง Ro, Ro และ R2 คลองธรรมชาติ เป็นพื้นที่สีเขียว

6. ระบบการเลี้ยงแบบเดิม ฟาร์มยี่สารปลาทับทิม-ปลานิล เป็นฟาร์มที่ใช้ในการทดลองและผลิต พ่อแม่พันธุ์ปลาทับทิม ในการอนุบาลลูกปลาขนาดเล็กจำเป็นต้องใช้น้ำความเค็มต่ำ แต่น้ำในคลองธรรมชาติมีความเค็มสูงในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ฟาร์มต้องกักเก็บน้ำจืดหรือน้ำที่มีความเค็มต่ำทั้งหมด โดยการทำระบบน้ำหมุนเวียนมาใช้ โดยในช่วงฤดูฝน จะสูบน้ำเข้าที่ความเค็มต่ำให้เต็มระบบ และในฤดูร้อนจะเติมน้ำเข้าเท่าที่จำเป็นเพื่อทดแทนน้ำที่ระเหยออกไป และการสูบน้ำทำได้เฉพาะช่วงน้ำขึ้นซึ่งมีเวลาจำกัด ดังนั้นทางฟาร์มจึงไม่ใช้ถุงกรองก่อนนำน้ำเข้าบ่อพักน้ำ (Reservoi) แต่ใช้ถุงกรองด้วยมุ้งฟ้าก่อนนำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงหรือการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนก่อนนำน้ำไปใช้ในโรงเพาะฟัก ดังนั้นในส่วนของฟาร์มจึงไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่คลองธรรมชาติ มีเพียงสูบน้ำจากคลองธรรมชาติเข้ามาเติมในระบบ

7. ระบบการเลี้ยงปัจจุบัน มีการออกแบบปรับปรุงและการก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์และรองรับงานทดลองและการนำเข้าพันธุ์ปลาจากแหล่งต่างๆ ใช้เป็นจุดตรวจสอบ (Quarantine) เพื่อแน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อ หากพบการติดเชื้อก็จะทำลายทิ้งทั้งชุด ทำการฆ่าเชื้อทั้งระบบ ส่วนปลาชุดที่ปลอดเชื้อจะส่งเข้าระบบเลี้ยงเพื่อทดลองต่อไป เมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงจะทำการผลิตหรือขยายการเลี้ยงออกไปยังฟาร์มอื่นต่อไป ส่วนระบบน้ำหมุนเวียนใช้จุลินทรีย์และเทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งระบบนี้เน้นและให้ความเข้มงวดในการป้องกันปลาหลุดลอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมธรรมชาติ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีในด้านอุปกรณ์เข้ามาช่วยเพื่อให้ทำงานได้สะดวกโดยใช้คนน้อย มีการสร้างรั้วกั้นบริเวณทั้งหมด เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าออก แต่ละประตูจะมีกุญแจล็อกไว้

8. คณะผู้ตรวจเยี่ยมได้ขอสุ่มตัวอย่างในบ่อพักน้ำ R2 ของฟาร์ม ปรากฏว่าพบปลาหมอสีคางดำอาศัยอยู่ในบ่อดังกล่าว จึงขอเก็บตัวอย่างปลาดังกล่าวเพื่อตรวจสอบตามลำดับต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืดไม่ได้รับการประสานงานจากทางฟาร์ม และไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในกรณีการเก็บตัวอย่างเพื่ออ้างอิงด้านพันธุกรรม หากมีการประสานงานจากทางฟาร์ม เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำการเก็บตัวอย่างด้วยวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งต้องใช้สารละลายเอทิลแอลกอฮอล์ในการรักษาสภาพตัวอย่าง ไม่ใช่สารละลายฟอร์มาลิน และปฏิบัติตามกระบวนการรับตัวอย่างของห้องเก็บตัวอย่างอ้างอิง กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด นอกจากนั้น จากการตรวจสอบบันทึกการรับตัวอย่างในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่พบบันทึกการรับตัวอย่างจากฟาร์มยี่สารปลาทับทิม-ปลานิล และตัวอย่างอ้างอิงของปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ในห้องเก็บตัวอย่างอ้างอิงของกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดแต่อย่างใด