เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประมง และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหา “ปลาหมอคางดำ” ที่กำลังระบาดอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า “หมอคางดำ #1 สมมติฐานการรุกรานและแนวทางการควบคุมในระยะยาวโดยใช้ระบบนิเวศเป็นฐาน” รีๆ รอๆ ว่าจะแลกเปลี่ยนเรื่องปลาหมอคางดำด้วยดีไหม ด้วยมีผู้รู้ได้ออกมาถกแถลงให้ข้อมูลมากมาย แต่เห็นว่ายังไม่มีใครพูดถึงกรณีที่อยากชวนถก โดยเฉพาะการเอาวิชาการมาย้อนอธิบายสาเหตุเพื่อการวางแผนการควบคุมในระยะยาว จึงขออนุญาตมองกรณีการกระจายของปลาหมอคางดำด้วยแว่นตาของนักชีววิทยาประมงเพื่อแลกเปลี่ยนครับ

1.การกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดสิ้นไปจนเป็นศูนย์ (0) เกิดขึ้นได้ยากมากด้วยเงื่อนไขของการเป็นแหล่งน้ำเปิด ต่างจากกรณีศึกษาบางกรณีในแหล่งน้ำจืดแบบปิดที่สามารถใช้วิธีกำจัดออกอย่างต่อเนื่องอาจจะสามารถทำได้ เพราะด้วยชีวประวัติของปลาหมอคางดำที่มีการทดแทนที่ค่อนข้างเร็วและต่อเนื่องทั้งปี
2.อธิบายการแพร่กระจายและรุกรานของปลาหมอคางดำในมิติชีววิทยาประมง คงต้องอธิบายด้วย 3 สมมติฐานที่เกี่ยวข้อง

สมมติฐาน # 1 enemy released hypothesis (ERH) ที่ว่าด้วยระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ชนิดพันธ์ุต่างถิ่นไปอยู่ใหม่ไม่มีศัตรูธรรมชาติ เช่น โรค, ปรสิต และโดยเฉพาะผู้ล่า
สมมติฐาน # 2 biotic resistance hypothesis ที่ว่าด้วยระบบนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตในประชาคมที่มีความหลากหลายสูงสามารถกดดันและควบคุมสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นได้ดีกว่า
สมมติฐาน # 3 Invasional meltdown theory ที่ว่าด้วยการที่สภาพแวดล้อมระบบนิเวศใหม่หมดความสามารถในการที่จะต้านทานต่อการระบาดของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นชนิดหนึ่งชนิดใดและมีผลต่อเนื่องถึงการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นชนิดอื่นๆ

3.ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงมาตรการเพื่อการบริหารจัดการที่ดำเนินการในปัจจุบันจะเน้นในส่วนของการดำเนินการตามสมมติฐานที่ #1 เป็นหลัก อย่างไรก็ตามการควบคุมการรุกรานในสมมติฐานที่ #2 จะเป็นแนวทางควบคุมในระยะยาว เปรียบเทียบกับกรณีการที่สัตว์น้ำต่างถิ่นในระบบนิเวศน้ำจืดในบ้านเราที่ถูกควบคุมการรุกรานจากการที่ในแหล่งน้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ค่อนข้างสูง จึงเป็นการกดขนาดของประชากรสัตว์น้ำต่างถิ่นให้มีอยู่ในปริมาณที่จำกัด ดังนั้นการส่งเสริมให้ปล่อยปลาที่เป็นคู่แข่งในธรรมชาติเพื่อสร้างการแข่งขันในระบบและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพจะเป็นแนวทางที่ควรดำเนินการ

4.ประเด็นข้อ 3 ยังเป็นการช่วยปรับสมดุลในระบบนิเวศเนื่องจากการปล่อยปลาผู้ล่าในระยะยาว หากไม่สร้างสมดุลในระบบโดยเฉพาะ Forages/Carnivores ที่ Carnivores ที่มากเกินไปจากการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำทำการทดแทนของกลุ่ม Forage ลดลงและระบบนิเวศเสียสมดุล

5.การที่มีรายงานการพบปลาหมอคางดำในระยะที่ผ่านมาประปรายตั้งแต่ปี ’59 – ’60 และเพิ่งมามีการรุกรานเมื่อเร็วๆ นี้ สนับสนุนสมมติฐาน # 3 ที่แสดงให้เห็นว่าระบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่ปลาหมอคางดำไปอาศัยไม่สามารถต้านทานการรุกรานและกดควบคุมกลุ่มประชากรไว้ได้อีกต่อไป ทำให้จำเป็นต้องมีมาตรการฟื้นฟูแหล่งอาศัยที่เกิดการรุกรานเพื่อให้เหมาะสมกับปลาหรือสัตว์น้ำพื้นถิ่นมาอาศัยอยู่มากขึ้นและสร้างเงื่อนไขตามสมมติฐานที่ #2 เพิ่มขึ้น

6.การศึกษาวิจัยจะต้องเกินขอบเขตการศึกษาเดิมที่เน้นชีววิทยาของหมอคางดำในพื้นที่รุกราน และต้องศึกษาทั้งระบบนิเวศและติดตามผลของมาตรการโดยการประเมินทางพลวัตประชากร, โดยเฉพาะความสามารถในการเติบโตและขนาดประชากร (ที่ควรจะลดลง) เมื่อเวลาผ่านไป..

ขอบคุณภาพและข้อมูล @Tuantong Jutagate