เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรุงเทพมหานคร ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ พร้อมด้วย นายวงศ์วริศ ศุภปฐวีพงศ์ ประธานกรรมการบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง (ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานโซลาร์เซลล์) ตัวแทนผู้เสียหายจากสถาบันการเงินชื่อดัง เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ขอให้ตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อเงินกู้แบบผิดปกติของธนาคารแห่งหนึ่ง เนื่องจากผู้เสียหายเพียงแค่เปิดบัญชี ก็กลายเป็นหนี้หลายร้อยล้านบาทได้โดยไม่รู้ตัว ทำให้ติดเครดิตบูโร โดยมีนายพีรธร วิมลโลหการ ผอ.กองกำกับและตรวจสอบ และในฐานะรองโฆษก ปปง. เป็นตัวแทนรับเรื่อง

ทนายไพศาล กล่าวว่า วันนี้มายื่นเรื่องขอให้ ปปง. ดำเนินการเกี่ยวกับคดีมูลฐานฟอกเงินกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เนื่องมาจากผู้เสียหายได้มีการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อทำกิจการร่วมค้า ต่อมากลายเป็นหนี้หลายร้อยล้านบาทโดยที่ไม่ได้มีการยื่นกู้เงินมาก่อน และไม่ได้มีเพียงตัวแทนผู้เสียหายรายนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายร้อยรายที่โดนกระทำในลักษณะเดียวกัน มูลค่าความเสียหายรวมกว่าหมื่นล้านบาท แต่ไม่มีใครกล้าพูดเพราะเห็นว่าเป็นธนาคารรายใหญ่ และยังอยู่เบื้องหลังของหลายธุรกิจ เป็นทั้งผู้สนับสนุนและผู้ให้กู้ต่างๆ ขณะที่ลูกความของตนมีมูลค่าความเสียหาย 300 ล้านบาท

ทนายไพศาล กล่าวว่า ดังนั้นตนจึงอยากส่งเสียงไปให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง ได้รับทราบปัญหา เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้และสั่งการแก้ไข เพราะหากพูดกันตามตรงประชาชนคนทั่วไป เวลาจะยื่นกู้ธนาคาร อนุมัติยากเย็น จนเป็นเหตุให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบ หรือกลุ่มหมวกกันน็อก เกิดปัญหาอาชญากรรมขึ้น ส่วนนักธุรกิจก็กลับมาโดนเล่ห์เหลี่ยม เอกสารถูกปลอมแปลง ตราประทับปลอมบริษัทร่วมค้า แต่กลับใช้กู้ได้โดยไม่มีการตรวจเอกสารเงินกู้ มีการอนุมัติสินเชื่อหลักร้อยล้านบาท นอกจากนี้ตนยังสงสัยว่าเงินที่ธนาคารปล่อยกู้ให้นั้น กลับไปอยู่ในบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ยื่นกู้เลย และบริษัทรายย่อยเหล่านี้ ก็ยังมีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ คำถามชัด ๆ คือ ธนาคารไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ สนิทชิดเชื้อหรือไม่ เข้าลักษณะอัฐยายซื้อขนมยายหรือไม่ อย่างไร ตอนนี้ผู้เสียหายเสียเครดิตหมด ไปยื่นสัมปทานที่ไหนก็ไม่ผ่าน กลายเป็นคนติดเครดิตบูโรทั้งที่ไม่ได้กู้เงินสักบาท

ทนายไพศาล กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์นี้ขอตั้งคำถามดัง ๆ ไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายนักธุรกิจอย่างไร เพราะธนาคารมีการปล่อยกู้ให้กับคนที่ไม่มีอำนาจในการใช้เอกสารบริษัทกู้ยืมเงิน และขอให้เข้ามาตรวจสอบธนาคารแห่งนี้โดยเร็ว ตามหลักการแล้ว ธนาคารสามารถใช้แค่บันทึกสัญญาข้อตกลงการทำงาน หรือสัญญากิจการร่วมค้า มาเป็นหนังสือมอบอำนาจได้หรือ มันต้องใช้รายงานการประชุมและเอกสารอื่น ๆ ประกอบหรือไม่ ทั้งนี้ ในกรณีนี้ ตนได้ทำการฟ้องธนาคาร เจ้าหน้าที่ธนาคาร บริษัทร่วมค้า บริษัทที่ธนาคารไปเป็นหุ้นส่วน คนที่ให้การเท็จ และจะฟ้อง ธปท. ต่อไป หากมีการละเลยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย

ขณะที่นายวงศ์วริศ ศุภปฐวีพงศ์ ประธานกรรมการบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง ตัวแทนผู้เสียหายจากสถาบันการเงินชื่อดัง เผยว่า สัญญาการกู้ยืมเงินดังกล่าว บริษัทกิจการร่วมค้าได้มีการดำเนินการกู้เงินกับธนาคารในตอนที่สัญญาหมดอายุไปตั้งแต่ปี 61 แต่ทำเรื่องกู้เงินในปี 62 ในนามของผู้รับเหมา โดยที่เราไม่ทราบเรื่อง เพราะมีการปลอมแปลงการพิสูจน์ตัวตน (KYC) และอื่น ๆ แต่เรามารู้เรื่องตอนปี 63 เพราะเราจะไปกู้เงินอีกธนาคารเพื่อจะนำเงินไปประมูลงานโครงการ แต่ธนาคารกลับแจ้งว่าเราติดหนี้อยู่กับธนาคารอีกแห่ง เราจึงสอบถามไปที่ธนาคารต้นเรื่อง ทางธนาคารต้นเรื่องก็กล่าวว่าบริษัทดังกล่าวมาทำเรื่องกู้แทนเรา โดยที่ไม่มีใบมอบอำนาจจากตนเลย แต่ใช้บันทึกสัญญาข้อตกลงการทำงาน หรือสัญญากิจการร่วมค้า ซึ่งปกติมีตรายางและลายเซ็นอยู่แล้ว ในการไปกู้ยืมเงินกับธนาคารแทนหนังสือมอบอำนาจจากตน แต่ในหนังสือสัญญาเงินกู้ที่บริษัทดังกล่าวไปทำกับธนาคาร ไม่ได้มีลายเซ็นของตนลงนามรับรอง ไม่มีตรายางปั๊ม เขาไปทำตราปั๊มปลอมขึ้นมาเอง ขณะที่ธนาคารก็ชี้แจงมาว่า “บันทึกสัญญาข้อตกลงการทำงาน หรือสัญญากิจการร่วมค้า” ถือเป็นหนังสือมอบอำนาจได้ ตนมองว่ามันถูกต้องหรือไม่

ด้านทีมกฎหมายของผู้เสียหาย ระบุว่า สำหรับการเปิดบัญชีออมทรัพย์ของผู้เสียหายกับสถาบันการเงินแห่งนี้นั้น เป็นการเปิดบัญชีออมทรัพย์เพื่อไว้ใช้จ่าย และมีบัญชีกระแสเงินรายวัน โดยมีการแยกบัญชีอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นบัญชีที่เปิดไว้สำหรับกิจการ มีเงินเข้าและเงินออกตามการทำธุรกรรมปกติ กระทั่งบริษัทของลูกความจะไปประกอบกิจการอื่น เพราะสามารถประมูลงานได้ ทำให้ตัดสินใจจะไปกู้เงินกับธนาคารอีกแห่ง แต่กลับพบว่าบริษัทตนเองติดเครดิตบูโรจากธนาคารที่เคยเปิดบัญชีไว้ โดยที่พยายามหาคำตอบและข้อเท็จจริงมาตลอดว่าไปยื่นกู้ตอนไหน เพราะมั่นใจว่าไม่เคยกู้เงินกับธนาคารที่เปิดบัญชีมาก่อน ทำให้กลายเป็นหนี้เสียทันที เสียเครดิตในการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราได้พยายามตรวจสอบและตั้งข้อสังเกตบนพยานหลักฐานต่าง ๆ ว่าการปล่อยกู้ครั้งนั้นของธนาคาร มีการใช้เกณฑ์เรื่องเอกสารรายงานการประชุมฉบับใด เอกสารการยื่นกู้ หรือการยืนยันตัวตนอย่างไร และทำถูกต้องตามระเบียบ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 หรือไม่

ทีมกฎหมายของผู้เสียหาย ระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ลูกความของตนไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินกับธนาคารที่เป็นคู่กรณีมาก่อน เพราะการประกอบกิจการของลูกความมีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าใครทำอะไร อาทิ บริษัทร่วมค้ามีหน้าที่อะไร ซึ่งในการกู้ยืมเงินที่เกิดขึ้น ลูกความตนมีสถานะเป็นผู้มีอำนาจ แต่ไม่ได้มีหน้าที่ไปจัดหาเรื่องเงิน อีกทั้งเรื่องนี้มันต้องมีผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติด้วย ดังนั้น บริษัทร่วมค้าที่ไปกระทำการทุจริตยักยอกดังกล่าว ก็จะต้องพิสูจน์สู้คดีในชั้นศาลตามกฎหมาย เพราะตอนเป็นคดีความในชั้นสอบสวน อ้างว่าไม่มีเอกสารต่าง ๆ แต่พอคดีไปถึงชั้นศาล กลับมีกรณีของการปลอมแปลงเอกสารปรากฏขึ้นมา จึงเป็นข้อสงสัยว่าการปล่อยกู้เงินของธนาคารดังกล่าวในครั้งนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทั้งนี้ มั่นใจว่าเป็นการกระทำของกลุ่มคนมากกว่า 1 คนอย่างแน่นอน ที่เข้ามาร่วมขบวนการ เนื่องจากต้องมีคนอนุมัติ ต้องมีกรรมการ ต้องมีการตรวจสอบการขอสินเชื่อ

ทีมกฎหมายของผู้เสียหาย ระบุต่อว่า ปกติแล้วเงินที่กู้จากธนาคารมันจะต้องถูกใช้ในกิจการ แต่เงินก้อนที่เป็นปัญหากับลูกความตน ซึ่งไม่ได้เป็นผู้กู้ด้วยซ้ำ กลับถูกนำไปใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ หรือถูกนำไปใช้ในกิจการอื่น ส่วนที่เราต้องข้อสังเกตที่เป็นประการสำคัญ คือ มันมีความเกี่ยวข้องว่าธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทร่วมค้าที่นำเอกสารของบริษัทไปใช้ยื่นกู้ และนำเงินกู้ที่ได้ไปให้กับบริษัทรายย่อยนั้น บริษัทรายย่อยเหล่านี้ กลับมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารดังกล่าวเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนด้วย จึงเข้าข่ายเป็นพฤติกรรม “อัฐยายซื้อขนมยาย” นอกจากนี้ ปัจจุบันคดีของลูกความตน อยู่ในขั้นตอนสืบพยานในชั้นศาล ซึ่งผู้ถูกร้อง (บริษัทร่วมค้าและธนาคารที่ปล่อยกู้) ยังคงมีความพยายามต่อสู้คดี

ส่วนนายพีรธร วิมลโลหการ ผอ.กองกำกับและตรวจสอบ และในฐานะรองโฆษก ปปง. กล่าวว่า ภายหลังรับเรื่อง จะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดและประมวลเรื่องพร้อมเอกสารประกอบการร้องทุกข์ของผู้เสียหาย ก่อนนำเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อมีข้อสั่งการต่อไป.