เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 26 ก.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน สำนักงานควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น ดร.วาสนา สอนเพ็ง หัวหน้ากลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธาณสุข สำนักงานควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น หรือ สคร.7 เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลางในความรับผิดชอบของ สคร.7 นั้น ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องประกอบกับเป็นช่วงระยะของการระบาด โดยล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกแล้วในพื้นที่ 1,453 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ จ.มหาสารคาม 314 ราย อัตราป่วย 33.48 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ ร้อยเอ็ด 371 ราย อัตราป่วย 28.97 ต่อประชากรแสนคน, ขอนแก่น 493 ราย อัตราป่วย 27.71 ต่อประชากรแสนคน และ จ.กาฬสินธุ์ 247 อัตราป่วย 25.59 ต่อประชากรแสนคน ในขณะที่สถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั้งประเทศพบผู้ป่วยรวม 50,615 ราย มีผู้เสียชีวิต 41 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 5-15 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่พบในพื้นที่ สคร.7 เช่นกัน      

“เมื่อพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้เลือดออก รพ. ที่รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา จะแจ้งไปยัง รพ.สต. หรือหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ที่ผู้ป่วยพักอาศัยภายใน 3 ชม. จากนั้น รพ.สต. หรือหน่วยบริการสาธารณสุข จะประสานงานไปยังเทศบาล หรือ อบต.และ อสม.พื้นที่ ภายใน 3 ชม. เพื่อกำหนดแนวเขตของการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมยุงในบ้านผู้ป่วย จากนั้นเทศบาล และ อบต. จะเข้าไปทำการฉีดพ่นยาฆ่ายุงภายใน 1 วันหลังรับแจ้ง โดยนอกจากบ้านของผู้ป่วยแล้วยังคงรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี 100 เมตร ตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กรมควบคุมโรคกำหนด

แต่ถึงอย่างไร การเฝ้าระวังป้องกันยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญ ซึ่ง สคร.7 เน้นย้ำ 4 มาตรการหลักและ 1 มาตรการเสริม เริ่มจากการสำรวจทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลาย การตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ การวินิจฉัยรักษา การสื่อสารความเสี่ยงและการกำหนดมาตกรเสริมในเรื่องของการใช้ยาทากันยุงในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ”   

ดร.วาสนา กล่าวต่ออีกว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือผู้ปกครองจะต้องติดตามอาการของบุตรหลานหรือคนใกล้ชิด ซึ่งหาพบว่ามีอาการไข้สูงเกิน 2 วัน มีผื่น จุดแดงขึ้นตามลำตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยห้ามซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด โดยเฉพาะกลุ่มยาแอสไพริน, ไอบูโพรเฟน, ไดโคลฟีแนค และนาพรอกเซน เนื่องจากกลุ่มยาเหล่านี้ จะไปกระตุ้นเรื่องเลือดในร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม สคร.7 ยังคงเฝ้าระวังป้องกันและติดตามสถานการณ์ในระยะระบาดในระยะนี้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันในเรื่องของการใช้ทรายอะเบท ในปริมาณทราย 1 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออย่างโอ่งมังกรทั่วไปที่มีความจุ 200 ลิตร จะต้องใช้ทรายอะเบท 20 กรัม โดยจะต้องเททรายออกจากถุงลงไปในน้ำ จึงจะให้ผลต่อการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ