เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการออกกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา ภายหลังกรณีข่าวที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ออกมาระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการควบคุมกัญชา โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่า เรื่องกัญชา ขณะนี้  (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดประเภท 5 พ.ศ. … ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งได้ส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ด ป.ป.ส.) แล้ว และในส่วนของ พ.ร.บ.กัญชา ที่ยังค้างอยู่ในสภา 3 ฉบับ และฉบับของกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ส่งออกจากกระทรวงฯ ไปแล้ว รวมเป็น 4 ฉบับ

“เรื่องกัญชาก็ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่เคยให้ข้อมูลไปแล้ว ยังเท่าเดิม ไม่มีอะไรพูดเพิ่ม เราต้องเป็นสุภาพบุรุษ เป็นนักการเมืองต้องเป็นสุภาพบุรุษ สิ่งที่เราต้องทำให้ดีที่สุด ก็คือการวางนโยบาย กรอบ ผลงาน เพราะจ้างคนมาเป็นรัฐมนตรีคือมาวางนโยบาย” นายสมศักดิ์กล่าว 

ด้าน ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และหนึ่งในเครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องดำเนินการในตอนนี้คือ บอร์ด ป.ป.ส.จะต้องนำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดมาพิจารณาและเห็นชอบ เพราะเป็นช่องทางที่จะสามารถควบคุมกัญชาได้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ไม่มีกฎหมายอะไรมาคุมเลย จากนั้นจึงค่อยพิจารณาออก พ.ร.บ.กัญชา มาควบคุม ซึ่งสามารถดำเนินการด้วยศักดิ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพ.ร.บ.ควบคุมกัญชาเท่ากัน   

สำหรับ (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา ทั้ง 4 ฉบับที่เสนอกันไปนั้น ตนเห็นว่า ยังต่ำกว่าประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาในเชิงสันทนาการได้ การจะอ้างว่า 4 ฉบับนี้เพื่อยกเลิกสันทนาการเป็นไปไม่ได้ ทั้ง 4 ฉบับนี้ไม่สามารถยกเลิกใช้เชิงสันทนาการ อาจจะมีฉบับของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการระบุว่า ห้ามเพื่อสันทนาการ แต่สุดท้ายเขียนไว้แล้ว ไม่ได้บังคับจริงจังก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้กัญชากลับเป็นเยาเสพติดแล้ว จะต้องมีการยก (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชาฉบับใหม่ขึ้น ไม่ใช่พิจารณาจาก 4 ฉบับที่มีอยู่แล้ว โดยหากจำกัดการใช้ประโยชน์กัญชาแค่งานวิจัย เศรษฐกิจ การรักษาโรคต้องกำหนดกลุ่มคนที่สั่งใช้ได้ หรือถ้าจะให้ปลูกเพื่อรักษาตนเองก็จะต้องกำหนดให้ปลูกได้น้อยที่สุดและห้ามนำไปขายต่อ  ซึ่งในต่างประเทศก็มีในกรณีใช้กับตัวเอง แต่ต้องจดทะเบียนว่าจะใช้กับตัวเองกี่ต้น จะปลูกอย่างไร ขณะที่ (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชาที่มีอยู่ 4 ฉบับไม่มีอะไรชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ใครอยากปลูกก็ปลูกได้เหมือนเดิม ส่วนจะปลูกเพื่อสันทนาการหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่แยก

“เทียบเคียงกระท่อมทั้งที่มี พ.ร.บ.กระท่อมออกมาควบคุมการใช้แล้ว ซึ่งก็ไม่ต้องการให้ใช้ในเชิงสันทนาการ แต่ปัจจุบันก็เห็นว่ามีคนนำมาใช้ในเชิงสันทนาการชัดเจน มีการใช้ผสมสิ่งต่างๆ มากมาย ผสมสารเสพติด เด็กวัยรุ่นเข้าถึงได้มาก ทั้งที่ใน พ.ร.บ.ก็กำหนดป้องกันไว้ทั้งหมด” ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าว