เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย  ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภาวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า ในการประชุมวันนี้ ได้เชิญตัวแทนจากบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ CPF มาชี้แจงต่อกรรมการถึงข้อโต้แย้งจากกรมประมงที่ให้เอกสารหลักฐานต่อกรรมาธิการ ซึ่งล่าสุดทางบริษัทเอกชนได้ส่งหนังสือแจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่ได้ส่งเอกสารแนบเป็นหนังสือข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลชุดเดียวกับกรมประมงโดยไม่ได้มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม

“เวทีที่ท่านสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจได้คือเวทีของสภาผู้แทนราษฎร แต่หากเลือกที่จะแถลงข่าวเพียงมีสำนักข่าวไม่กี่สำนัก ขาดการโต้แย้งสอบถามอาจจะสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับประชาชนมากขึ้น” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ตามอำนาจของกรรมาธิการ ทำได้เพียงขอความร่วมมือเท่านั้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ และเมื่อขอข้อมูลไปแล้วแต่ไม่ได้รับข้อมูล จึงต้องสรุปตามข้อมูลที่มีอยู่ โดยเป็นข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่เชื่อถือได้ จากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่จะมีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติคำสั่งเรียก เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการเชิญบริษัทเอกชนเข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการ โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้ามาให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐในการฟ้องร้อง พร้อมกับเชิญหน่วยงานที่จะประเมินมูลค่าความเสียหายต่อระบบนิเวศที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือว่ามูลค่ามหาศาล เพราะปลาสายพันธุ์นี้ได้ทำลายชีวิตของประชาชนและเกษตรกรนับไม่ถ้วน

นายณัฐชา กล่าวอีกว่า สิ่งที่กรมประมงได้ชี้แจง และให้ข้อมูลไว้ สามารถยืนยันได้ว่า เป็นการทำผิดเงื่อนไขของคณะกรรมการอนุญาตนำเข้าสายพันธุ์ปลา แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุต้นตอของการแพร่ระบาดได้ เนื่องจากมีดีเอ็นเอของปลาในปี 2565 ยังไม่ได้มีดีเอ็นเอ ต้นทางในปี 2554 ทำได้เพียงการสันนิษฐาน และมีเพียงบริษัทเดียวที่นำเข้าปลาสายพันธุ์นี้  โดยในวันนี้จะมีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา  หลังจากที่ประธานวิปฝ่ายค้านได้หารือกับวิปรัฐบาล และได้จัด สส.พรรคก้าวไกล 13 คนนำพยานหลักฐานมาอภิปรายชี้ให้เห็นถึงปัญหา เนื่องจากว่าอนุกรรมการได้ทำเต็มความสามารถและอำนาจหน้าที่แล้ว

“เราจึงเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเพื่อเสนอไปยังรัฐบาลว่า การระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำรุกรานเกษตรกร สิ่งที่เกิดขึ้นมูลค่าความเสียหายยังประเมินไม่ได้ แต่เกษตรกรตาย ท่านจะอยู่นิ่งเฉยแล้วรอกันแก้ไข หรือรอคนมีจิตสำนึกมาช่วยแก้ไขปัญหาไม่สามารถทำได้อีกต่อไป วันนี้อนุกรรมาธิการทำเป็นรูปธรรม ที่สุดแล้วสิ่งที่จะส่งต่อคือการยื่นญัตติด่วนส่งข้อเสนอแนะข้อมูลไปถึงรัฐบาลและดูว่านายกรัฐมนตรีจะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด” นายณัฐชา กล่าว

รองประธานอนุกมธ.ฯ แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำฯ ยังกล่าวถึงการนำเข้าสายพันธุ์ปลาเก๋าหยก ของบริษัทเอกชนรายเดิม จึงมีความเป็นห่วง อาจจะมีการหลุดรอดมายังแหล่งน้ำธรรมชาติอีกหรือไม่ว่า ทางกรมประมงยืนยันว่าหากมีการหลุดรอดในแหล่งน้ำสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทันที เพราะการนำเข้ามีการเก็บดีเอ็นเอไว้แล้ว แต่ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดปลาหมอคางดำ จึงมีความพยายามไม่ให้สืบหาสาเหตุของการหลุดรอด ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดเมื่อปี 2555 แพร่ระบาดในตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน เชื่อว่าเป็นประเด็นที่กรมประมงจะตั้งคณะกรรมการดำเนินการหาความจริงตั้งแต่ครั้งนั้น

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมประมงได้ส่งรายงานให้อนุกรรมาธิการ เกี่ยวกับการสำรวจในแล็บเอกชนของบริษัท CPF ในปี 2560 ในเดือน ส.ค. ที่มีการสอบถามข้อเท็จจริงในการนำเข้า แต่ปรากฏเจ้าหน้าที่ในแล็บแจ้งว่ามีการยกเลิกโครงการแล้ว เนื่องจากปลาตายทั้งหมด แต่มีการสุ่มตรวจในบ่อพักน้ำโดยการหว่านแห พบว่าเจอปลาหมอคางดำ 10 ตัว ขนาด 7 ซม. มีอายุ 1 ปีหรือ 1 ปีกว่าแล้ว โดยไม่ได้มีรายงานในการกำจัดปลา ซึ่งตั้งแต่ครั้งนั้นยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี คิดว่าหน่วยงานของรัฐควรดำเนินการอย่างจริงจังอย่างถึงที่สุด และกรมประมงในฐานะตัวแทนของประชาชนต้องเป็นคนกลางสู้คดีฟ้องร้องดำเนินคดี

“ทางกรมประมงจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อนุกรรมาธิการได้ทำตามหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว สุดความสามารถในการดำเนินการ วันนี้ที่ประชุมจะเรียนต่อประธานกรรมาธิการเพื่อสรุปข้อมูล” นายณัฐชา กล่าว.