วันนี้ (24ก.ค.67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานงานมหกรรมรวมพลคนหลังกําแพงภาคใต้ “ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” ณ อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park Yala) อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยมีเลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ผู้ช่วยเลขาธิการศอ.บต. ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รองอธิบดีกรมควบคุมความประพฤติ และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่าปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ 3 แสนกว่าคน ผู้ที่อยู่ในกรมควบคุมความประพฤติเกือบ 4 แสนคน บุคคลเหล่านี้เกือบล้านคนต้องการเพียงแค่โอกาส คำว่าโอกาสคือสิ่งที่คนอื่นยื่นให้ เพราะคนที่ต้องการโอกาสมากที่สุดคือผู้ที่ก้าวพลาด โอกาสหนึ่งที่เค้าต้องการคืออยากให้มองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และขอแต่ละพื้นที่ในสังคมอยากให้เรากลับมามองถึงการให้โอกาสบุคคลที่ก้าวพลาด ทั้งที่อยู่ในเรือนจำและพ้นโทษออกมาแล้ว การให้โอกาสคือการให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนเกือบล้าน สามารถเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนงานที่เหมาะกับความถนัดของเขาได้

นอกจากนี้โอกาสที่เป็นสิทธิมนุษยชนคือโอกาสด้านการศึกษา การเปลี่ยนชีวิตและโอกาสของคน สิ่งสำคัญคือการศึกษา ถ้าคนเราขาดโอกาสทางการศึกษา ย่อมเสี่ยงต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเร้าที่ไม่ดี อย่างน้อยคนที่อยู่ในเรือนจำ ต้องได้รับการศึกษาตามอัตลักษณ์ วัฒนธรรมที่เหมาะสมในพื้นของตนรวมทั้งหลักคำสอนของศาสนา ทุกคนควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในฐานะที่เป็นบุคลากรของประเทศไทย

สำหรับมหกรรมรวมพลคนหลังกําแพง “ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” เริ่มต้นจากโครงการ Yellow Ribbon เป็นโครงการที่ร่วมกับสังคม เพื่อสร้างการยอมรับและการตระหนักรู้ถึงความจําเป็นในการ ให้โอกาสผู้พ้นโทษ ในการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมภายนอก ด้วยการสนับสนุนจากภาคสังคม ทั้งขณะอยู่ภายในเรือนจํา และนอกเรือนจํา ที่จะแสดงถึงการยอมรับและไม่รังเกียจจากสังคม เป็นการสื่อให้ผู้พ้นโทษทราบว่าสังคมยังให้การยอมรับ และพร้อมจะให้อภัยผู้พ้นโทษกรมราชทัณฑ์ จึงได้จัดโครงการมหกรรมรวมพลคนหลังกําแพง “ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมต่อการให้โอกาส การยอมรับ และการให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษ

โดยผู้พ้นโทษที่ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยจากกรมราชทัณฑ์ ที่ประสบความสําเร็จ มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการรับรู้และการยอมรับต่อสังคมและบุคคลภายนอกภายหลังพ้นโทษ รวมไปถึงเชิญ หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิที่ให้การสนับสนุนภารกิจของกรมราชทัณฑ์ ในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาแก้ไข พฤตินิสัย โดยจัดกิจกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ก.พ.67 ณ ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และได้ เล็งเห็นประโยชน์จากการดําเนินโครงการดังกล่าว จึงกําหนดขยายการดําเนินงานไปยังพื้นที่ภูมิภาค เริ่มต้นจากภาคใต้ที่จ.ยะลา