เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนกว่า 450 องค์กร รวมพลังผลักดันนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ภายใต้เวทีสาธารณะ เด็กเท่ากัน ก้าวสู่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า สถานการณ์เด็กเล็ก : เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “ถูกทิ้ง ตกหล่น  ตีตรา เลือกปฏิบัติ เมื่อใดหนูจะได้รับการปกป้องเหมือนคนอื่น”

นายสมชัย จิตสุชน    สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)   กล่าวถึงนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าว่า  การที่สวัสดิการเด็กเล็กไม่ถ้วนหน้าเสียทีนั้น มาจากการไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาล และหนทางข้างหน้าก็ยังไม่ราบรื่น ซึ่งคำอธิบายว่า ไม่มีตังค์ก็อาจจะได้ยินดังมากขึ้นเรื่อย ๆ การขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าจากภาคประชาชนเคยมีสัญญาณที่ดี แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายดิจิตัลวอลเลตเข้ามา ซึ่งนโยบายดังกล่าวยังเป็นปัญหาว่าจะกู้เงินจากที่ไหน หรือต้องใช้เงินรัฐอย่างเดียว ซึ่งทำให้โยบายอื่นๆต้องชะงักทุกอย่างไปหมด และทำให้เรื่องนี้ยากมากขึ้น

ส่วนการจะขับเคลื่อนอย่างไรนั้นต่อไป  นายสมชาย กล่าวว่า การยืนยันปัญหาเด็กตกหล่นจากนโยบายนี้ยังอธิบายได้ดี   เนื่องจากมีข้อมูลชี้ชัดว่ามีการขยับฐานรายได้ในการให้เงิน ในขณะที่การตกหล่นไม่ได้ลดลง เนื่องจากการตกหล่นมาจากเงื่อนไขหลายประการ ซึ่งการตกหล่นเป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมไทย และทำให้เด็กขาดโอกาสพัฒนาศักยภาพ   ประเด็นที่สอง นโยบายดิจิตอลวอลเลตที่ยังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ จะสร้างรอยร้าวระหว่างพรรคการเมือง ทั้งนี้คณะทำงานจะต้องอ่านสถานการณ์เพื่อขยับงานต่อ เพราะพรรคการเมืองที่รับผิดชอบยังเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาตกหล่นไม่จำเป็นต้องให้ถ้วนหน้า และประเด็นที่สาม การมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปภาษี

ด้านนายธีรเนตร ไชยสุวรรณ  ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า  พีมูฟผลักดันในประเด็นรัฐสวัสดิการมาควบคู่ไปกับเรื่องของทรัพยากร ซึ่งการผลักดันแก้ไขปัญหา ทรัพยากร การทวงคืนผืนป่า ทำให้ครอบครัวแตกแยก ซึ่งในองค์ประกอบของครอบครัวมีเด็กอยู่ด้วย บางครอบครัวต้องหนีคดีจากการต่อสู้เรื่องทรัพยากร และพี่น้องไทพลัดถิ่น เขาถูกกักเขตแดน และเขาก็ต้องมีที่ดินทำกิน และพีมูฟต้องติดตาม ในขณะที่พี่น้องชุมชนเมืองเครือข่ายสลัมสี่ภาค ซึ่งต้องขยายการจัดการดูแลเด็กเล็กกันเอง ที่ต้องการให้มีที่อยู่ที่กิน ที่เรียนเป็นหลักแหล่ง นอกจากนี้เป็นที่รู้กันว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และต้องเตรียมรับมือกับเรื่องเหล่านี้ ทำให้เราต้องมีการติดตาม ทั้งด้านเอกสาร ไปทำเนียบ-การชุมนุม และทางรัฐสภา

“เราเชื่อว่า เราต้องติดตามและไม่เชื่อว่ารัฐจะลุกขึ้นมาทำเอง ประชาชนต้องติดตามเพื่อให้เกิดการรักษาสัญญาและข้อเรียกร้องที่ตกลงกันไว้”นายธีรเนตร กล่าว

ขณะที่นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์  ประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งมักพบกับการผิดสัญญาของพรรคการเมือง หรือถูกทำให้ไม่ได้เป็นรัฐบาล สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ ได้ทำงานในกลไกคณะกรรมาธิการด้านสวัสดิการสังคม และทำเรื่องเด็กแรกเกิดกับเครือข่ายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า  และได้มานั่งย้อนทบทวนว่า วันนี้ที่สังคมไทยยังไม่มีนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพราะอะไรทั้งที่แต่ละพรรคพูดเรื่องนี้ด้วยกันหมด แม้ตัวเลขไม่เท่ากันก็ตาม และทุกวันนี้หากไปทวงถามตามพรรคที่เป็นรัฐบาลก็จะยังไม่ได้เหมือนเดิม ขณะนี้เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ ยังไม่รู้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินอุดหนุนนี้หรือไม่  ส่วนการได้เท่ากันทุกคนนั้นแน่นอนว่ายังมีปัญหา

นายณัฐชา กล่าวว่า แนวทางที่ทำได้สำหรับปี งบประมาณ 2568  คือการตัดงบประมาณของกรรมาธิการแต่ละเรื่อง เพื่อไปลงงบประมาณตรงกลาง จากนั้นต้องไปต่อสู้ว่าจะนำเงินจากส่วนกลางนี้มาเติมเงินอุดหนุนเด็กให้ถ้วนหน้าได้ไหม ขอเพียงส่วนต่างที่ยังขาดเพื่อการถ้วนหน้าเท่านั้น  

“ตอนนี้มีมติออกมาแล้วว่า จะให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้าโดยเริ่มตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน แต่ที่เหลือคือ งบกลางที่เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีที่ต้องตัดสินใจ เราอยากขอให้เด็กได้ไหม เพื่อเริ่มสร้างทรัพยากรจากต้นทางให้มีคุณภาพให้ดีที่สุด” นายณัฐชากล่าว

นายณัฐชา กล่าวต่ออีกว่า การขับเคลื่อนต่อไปนั้น มีความสำคัญทุกจังหวะก้าว คือ  1.ขอการสนับสนุนงบประมาณจากกรรมาธิการเรื่องต่าง ๆ เพื่อมาสนับสนุนสวัสดิการเด็กเล็ก เพื่อให้เกิดกับเด็กทั้งประเทศ ในระดับนโยบาย ไม่เจาะจงกับพื้นที่ของใคร  2. ถ้าขยับตรงนี้ไปได้แล้วก็ไปถึงเรื่องการตัดสินใจของนายกฯ สำหรับการตัดสินใจใช้งบกลาง

นายณัฐชา กล่าวอีกว่า รัฐสวัสดิการมาจากความเชื่อใจกันระหว่างประชาชน การเกิดรัฐสวัสดิการเริ่มต้นจากความเชื่อใจ จะไม่สนใจว่าจะทำอะไร เพราะคุ้มค่ามากกว่าความสูญเสีย การสร้างเกณฑ์การให้ ใช้เงินเพื่อคัดกรองความจน เป็นการแย่งเงินเด็กมาใช้  เราเอาเงิน 1% ที่รัฐควรให้ ไปมองภาพรวมของเงินรายได้ที่เขามีและจ่ายเองทั้งหมด ต้องมองการให้นี้เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม ที่เดนมาร์กเขาให้แม่แต่คนต่างชาติที่ไปอยู่ในประเทศ เพราะการที่ใครไปอยู่ในประเทศเขา ย่อมส่งผลกระทบกับประเทศของเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  

นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี  คณะกรรมการประกันสังคม และอาจารย์ประจำ วิทยาลัยสหวิทยาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การผลักดันนโยบายของบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง การผลักดันเรื่องขยายวันลาคลอด ในกรรมาธิการวิสามัญ  ขอยืนยันว่า เจตจำนงทางการเมืองสำคัญมาก การเพิ่มลาคลอด 180 วันจะใช้เงิน 3,000 ล้านบาท/ปี แต่ในวันข้างหน้ามีแนวโน้มเงินลดลง เพราะคนไม่เกิดหรือเกิดน้อย  ในฐานะตัวแทนผู้ประกันตน ยืนยันว่า การผูกเงิน 3,000ล้านบาท/ปี ไม่ได้เป็นเงื่อนไขให้เงินประกันสังคมลดน้อยลงในวันข้างหน้า ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ การทำให้ประกันสังคมมีค่า เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีคนสนใจกับเรื่องประกันสังคมแล้วในตอนนี้  และเรามักกังวลว่าคนจะนำเงินไปใช้ไม่มีประสิทธิภาพ ภายใต้การให้ที่น้อยมาก การได้รับเงินอย่างไม่มีเงื่อนไข สิ่งแรกที่คนจะใช้เงินคือ การนำเงินไปใช้พยุงชีวิตคนที่สำคัญ

นายษัษฐรัมย์  กล่าวต่อว่า ทั้งนี้  สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ การฟังนักเศรษฐศาสตร์น้อยลง เพราะนักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้คำนวณคุณค่าและศักดิ์ศรีคนเป็นแม่ แรงงานหญิง เราจะยังเห็นแม่ขโมยนมใน 7-11 แล้วชีวิตของเด็กอีก 20 ปีจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้คำนวณออกมาในมิติของการยืนยันศักดิ์ศรีและคุณค่าในชีวิตของคน 

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ สว. กล่าวว่า กฎหมายประกันสังคม เราพูดถึงประกันทั้งสังคม แต่เรามีกฎหมายที่ประกันเฉพาะลูกจ้าง หน้าที่รัฐ ต้องทำกฎหมายประกันสังคมให้มันสมชื่อ คือ ประกันสังคมสำหรับทุกคนในสังคมต้องมีหลักประกัน ทุกวันนี้ กฎหมายประกันสังคมยังไม่ถูกหลักการ  ที่ผ่านมา เป็นการออกเงินสมทบแต่เมื่อมีคนตกงาน เราเสียเงินประกันสังคมมากกว่าตอนมีนายจ้างและหลุดไปจากการคุ้มครองของประกันสังคม การเริ่มต้นจึงต้องขยายกลุ่มคนให้เข้าถึงสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มคน แทนที่จะไปปลูกต้นใหม่ รัฐตีตราเด็กว่าอย่างไร ถ้าคิดต่อเด็กแบบใดก็จะปฏิบัติต่อเด็กแบบนั้น  ซึ่งเรื่องนี้เป็นทั้งวัฒนธรรมที่ใหญ่มาก ยกตัวอย่าง พ่อแม่ไม่เคยขอโทษลูกเมื่อทำผิด เพราะลูกเป็นเด็ก ไม่มีตัวตน และไม่ใช่เราเลี้ยงลูกเพื่อให้ลูกเลี้ยงเรา มันทำให้สังคมมองว่า เด็กไม่เท่ากับผู้ใหญ่ และการจัดสวัสดิการก็เป็นการให้ของรัฐ แต่มีแนวคิดหนึ่ง เด็กคือ ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ถ้ามองแบบนี้เขาจะไม่ตกหล่น หรือหายไป เพราะมองเห็นเด็กมีตัวตน เพราะเด็กเท่ากัน

หลังจบเวทีเสวนา  เครือข่ายคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนกว่า 400องค์กร พร้อมด้วยองค์กรร่วมจัด ร่วมกันประกาศ”ปฏิญญาหอศิลป กรุงเทพมหานคร เพื่อสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”.