สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ว่าประเทศต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มสิ่งแวดล้อมแสดงความกังวล หลังร่างความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงไม่ผ่านการอนุมัติ ด้านจีนเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงทิศทางในการเจรจาข้อตกลง

การเจรจาดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยเหลือฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงเกินขนาด อยู่ในระหว่างการเจรจาของรัฐสมาชิกองค์การการค้าโลกมานานกว่า 20 ปี และได้รับการอนุมัติแผนเบื้องต้นเมื่อปี 2565

ขณะที่การเจรจาร่างความตกลงครั้งที่ 2 อินเดียขัดขวางร่างดังกล่าวโดยอ้างถึง ‘ข้อบกพร่อง’ ของความตกลง และแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่แยกออกมาต่างหาก ด้วยเหตุนี้ การเจรจาจึงถูกลดระดับลงจากการรับรองข้อตกลง เหลือเพียงการ ‘หารือ’ ระหว่างประเทศสมาชิก 166 ประเทศ ซึ่งอนุญาตให้รัฐสมาชิกมีสิทธิขัดขวางข้อตกลงได้ ภายใต้กฎเกณฑ์ของดับเบิลยูทีโอ

“เรากังวลถึงการทำงานร่วมกับดับเบิลยูทีโอ เกี่ยวกับร่างความตกลงเหล่านี้ในอนาคต” น.ส.มารีอา ปากัน เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำดับเบิลยูทีโอ กล่าว พร้อมให้ความเห็นต่อข้อเสนอของอินเดียว่า “เราพบว่ามันยากที่จะเข้าใจวัตถุประสงค์ของเอกสาร ซึ่งประเด็นที่ถูกเสนอผ่านการถกเถียงและหารือกันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้อุดหนุนการประมงรายใหญ่ แสดงความผิดหวังที่ร่างข้อตกลงไม่ได้รับการรับรอง “ปลาและโลกใบนี้รอนานกว่านี้ไม่ได้แล้ว” นายหลี่ เฉิงกัง เอกอัครราชทูตจีนประจำดับเบิลยูทีโอ กล่าวโดยไม่เอ่ยชื่ออินเดีย “ความล้มเหลวหลายครั้งของการเจรจาเหล่านี้ มีสาเหตุมาจากเหตุผลเดียวกันหรือคล้ายกัน” พร้อมเสนอว่า “เราต้องคิดหาวิธีที่จะหลุดพ้นจากภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้”

ด้านนายเอร์เนสโต เฟอร์นันเดซ มอนเจ จากมูลนิธิการกุศลด้านสิ่งแวดล้อม ‘เดอะ พิว’ กล่าวว่า “ยิ่งเรารอนานเท่าไร ชาวประมงจะยิ่งได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวของความตกลง ส่งผลให้จำนวนปลาซึ่งชุมชนตามแนวชายฝั่งต้องพึ่งพาลดลง”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES