เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (ผบช.สพฐ.) พล.ต.ต.นิรันดร ศิริสังข์ไชย ผู้บังคับการกองสรรพาวุธ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. พ.ต.อ.วีระยุทธ หิรัญ รองผู้บังคับการกองสรรพาวุธ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงข่าวชี้แจงกรณีปรากฏภาพเสื้อเกราะของตำรวจว่าวัสดุด้านในลักษณะคล้ายไม้อัดจนทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่าเสื้อเกราะดังกล่าวสามารถป้องกันอันตรายเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานได้หรือไม่

พ.ต.อ.วีระยุทธ กล่าวว่า เสื้อเกราะที่ปรากฏตามภาพในโซเชียลมีเดียที่มีหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ 8A154338 ดังกล่าวเคยใช้ในราชการตำรวจโดยจัดซื้อเมื่อเดือนเมษายนปี 2553 ทั้งหมด 650 ตัว เป็นเสื้อเกราะพร้อมแผ่นเกราะแข็งระดับ 3 จำนวน 500 ตัว และเป็นเกราะอ่อนอีก 150 ตัว ยืนยันว่าเกราะทุกตัวเป็นไปตามมาตรฐาน NIJ (National institute of Justice) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหลังเกิดประเด็นในสังคมทางกองสรรพาวุธฯ ได้ไปตรวจสอบในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างเสื้อเกราะ ซึ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง คือให้ผู้เสนอราคานำแผ่นเกราะมาเสนอพร้อมยื่นราคา จากนั้นจะมีการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ยิงทดสอบ

พ.ต.อ.วีระยุทธ กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อผ่านเกณฑ์ไปแล้วผู้ที่เสนอราคาผ่านจะต้องถูกสุ่มตรวจวัสดุของเกราะอีกครั้งหนึ่งแบบมีหลักการจากหน่วยงานกลาง เพื่อพิจารณาเรื่องเส้นใยวัสดุที่จะต้องมีความแข็งแรงปลอดภัยสูงสุด สรุปได้ราคาจัดซื้อชุดดังกล่าวที่ราคา 34,000 บาทต่อตัว โดยการจัดซื้อจัดจ้างเกราะเป็นไปโดยโปร่งใสตามขั้นตอนตรวจสอบได้ ยุทธภัณฑ์นี้มีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึงระดับ ปืนซุ่มยิง หรือที่รู้จัก ปืน M16 ปืนอาก้า ปืนอาวุธสงคราม

ด้าน พล.ต.ต.นิรันดร กล่าวเสริมว่า นอกจากการจัดหาเสื้อเกราะให้กำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดการประกันคุณภาพเสื้อเกราะรวมทั้งประกันชีวิตและประกันการบาดเจ็บของผู้สวมใส่ไว้ตามระยะเวลาข้างต้นด้วย หากได้รับบาดเจ็บเป็นเงิน 500,000 บาท เสียชีวิตเป็นเงิน 1 ล้านบาท ทั้งนี้เกราะดังกล่าวที่เป็นประเด็นตามระเบียบราชการถือว่าหมดอายุการใช้งานแล้วเมื่อปี 2559 เพราะตามอายุที่กำหนดไว้คือ 5 ปีเท่านั้น ขั้นตอนจากนี้จะเป็นการจำหน่ายและทำลายยุทธภัณฑ์ตามระเบียบราชการ

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า ภาพเกราะที่ปรากฏตามสื่อโซเชียลเป็นเกราะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในชุดจัดซื้อ 8A154338 จริง แต่เศษไม้ลักษณะสามเหลี่ยมที่วางอยู่บนเกราะยืนยันว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเกราะแน่นอน แต่เป็นชิ้นส่วนจากสิ่งใดยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากภาพที่โพสต์เป็นการครอปภาพแบบแคบจนไม่เห็นภาพรวมของเสื้อเกราะ ทั้งนี้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานได้รับแผ่นเกราะมาทดสอบเพื่อหาคำตอบว่าวัสดุภายในเป็นสิ่งใดบ้าง โดยเจ้าหน้าที่นำมาชำแหละตรวจสอบโครงสร้างวัดขนาด ชั่งน้ำหนัก จากนั้นได้ตรวจสอบทางกายภาพ พบว่าวัสดุของเกราะมีการวางซ้อนกันด้วยผ้าแผ่นบางๆ ซ้อนกันมากกว่า 100 ชั้น แต่เมื่อถ่ายจากกล้องวิดีโอไมโครสโคป 3D กำลังขยาย 1,500 ขึ้นไปจะพบว่าวัสดุของเกราะเป็นเส้นใยโพลีเอทิลีน ผสมกับพอลิสไตรลีนอัดด้วยกำลังอัดแน่นความดันสูงจนทำให้ผ้าทั้งหมดรวมตัวกันจึงมีลักษณะเหมือนของแข็ง

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวอีกว่า คุณสมบัติของเส้นใหญ่โพลีเอทิลีน เมื่อผ่านกระบวนการผลิตเทคนิคพิเศษทำให้เกิดความแข็งแรง และมีน้ำหนักเบา เมื่อมาใช้กันกระสุนคุณสมบัติของเส้นใยชนิดนี้ กระสุนจะถูกจับยึดด้วยเส้นใย เส้นใยเหล่านี้จะดูดซับและกระจายพลังงานของหัวกระสุนปืน เป็นผลให้กระสุนนั้นบิดเบี้ยวหรือเสียรูปไปจนไม่สามารถทะลุเกราะได้ ซึ่งหลังตรวจสอบวัสดุ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานฯ ได้ทดสอบด้วยการยิงกระสุนจริงใส่เสื้อเกราะโดยใช้กระสุนขนาด 9 มม. ขนาด .357 และขนาด 45 มม. อย่างละ 3 นัดรวม 9 นัด ผลปรากฏว่าเสื้อเกราะทั้ง 3 ตัวสามารถกันกระสุนได้ทั้งหมดไม่มีกระสุนนัดใดทะลุเสื้อเกราะ

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า หลังจากยุทธภัณฑ์หมดอายุการใช้งานจะไม่สามารถขายให้บุคคลใดได้ เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ของทางราชการ และขอย้ำกับพี่น้องข้าราชการตำรวจที่ต้องทำงานที่มีความเสี่ยงว่าผู้บังคับบัญชาทุกระดับมีความเป็นห่วงในการที่พวกท่านต้องออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชน สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดหาให้ขอให้เชื่อมั่นว่าเป็นไปตามมาตรฐาน

โดยในระหว่างการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ได้เปิดคลิปวิดีโอยิงทดสอบเสื้อเกราะระบุหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ 8A154338 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ปรากฏในภาพดังกล่าวให้รับชมด้วยอาวุธปืนพก 3 แบบ ประกอบด้วยกระสุนขนาด 9 มม., ขนาด .357 แม็กนั่ม และขนาด .45 อย่างละ 3 นัด พร้อมอธิบายถึงวัสดุและเส้นใยที่ใช้ผลิตเสื้อเกราะตัวดังกล่าว ซึ่งผลปรากฏว่าเกราะดังกล่าวสามารถกันกระสุนได้จริง นอกจากนี้ยังได้นำเสื้อเกราะตัวดังกล่าวมาทดลองให้สื่อมวลชนชายได้นำทดสอบเลื่อยด้วยตนเอง ซึ่งพบว่าเกราะดังกล่าวยังมีความเหนียว และไม่สามารถตัดเข้าได้สำเร็จ

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวยังได้ขอให้มีการทดลองยิงเสื้อเกราะตัวเดียวกันอีกครั้ง โดยมีตัวแทนผู้สื่อข่าวเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ โดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ได้นำเสื้อเกราะตัวเดียวกันไปทดสอบยิงที่ห้องปฏิบัติการ ด้วยอาวุธปืนพก 3 แบบ ประกอบด้วยกระสุนขนาด 9 มม., ขนาด .357 แม็กนั่ม และขนาด .45 รวม 8 นัด ในระยะยิง 5 เมตรซึ่งเป็นระยะที่อาวุธปืนทั้ง 3 ชนิดสามารถแสดงผลความเสียหายได้ดีที่สุด โดยปรากฏร่องรอยการกระสุนบริเวณท้อง ไหล่ซ้าย-ขวา ซึ่งพบกระสุนทั้งหมดฝังอยู่ในเสื้อเกราะ ไม่ได้ทะลุออกไป