แหล่งข่าวเปิดถึงการเข้ามาของปลาหมอคางดำ ว่า เมื่อปี 2549 มีบริษัทเอกชนใหญ่รายหนึ่ง ขออนุญาตนำเข้าปลาตระกูลปลานิล ขนาด 4-6 ซม. จากประเทศกานา จำนวน 5,000 ตัว เพื่อทดลองประสิทธิภาพการเจริญเติมโตของปลาผสม โดยหนังสือฉบับดังกล่าวลงวันที่ 18 ต.ค. 2549 เรื่องสาเหตุการสั่งซื้อปลาจากทวีปแอฟริกา (ประเทศกานา) ส่งถึงกองใบอนุญาตนำเข้า (กรมประมง) ระบุว่า เนื่องจากในประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลาดุกมาเป็นระยะเวลานาน โดยปลาดุกที่ใช้เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ เป็นปลาดุกลูกผสมที่เกิดจากการใช้แม่ปลาดุกอุย ซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทย มีลักษณะที่โตช้า แต่มีเนื้อสีเหลืองและมีรสชาติดี ผสมกับพ่อปลาดุกที่มีสายพันธุ์มาจากรัสเซียคือ Claries garlepinus ซึ่งได้นำมาเผยแพร่และมีการเพาะเลี้ยงที่ประเทศลาวและเวียดนาม เมื่อหลายปีมาแล้ว จากนั้นมีการส่งต่อมายังประเทศไทย

สำหรับปลาดุกสายพันธุ์มาจากรัสเซีย มีลักษณะที่โตเร็วแต่เนื้อสีขาว ซึ่งคนไทยไม่นิยมรับประทาน ลูกผสมที่ได้ จะมีลักษณะที่โตเร็ว เนื้อสีเหลืองอ่อนและมีรสชาติดี คือปลาดุกที่เลี้ยงอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน แนวโน้มของปลาดุกที่มีอยู่เริ่มโตช้าลง ทำให้ระยะเวลาในการเลี้ยงนานขึ้น คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่พ่อพันธุ์ มีลักษณะการเกิดเลือดชิด เนื่องจากปลาดุกที่ใช้พ่อแม่เพียงคู่เดียว สามารถมีลูกได้ถึง 30,000 ตัว สามารถนำมาเป็นพ่อพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก และรุ่นลูกยังสามารถนำมาผสมกันเองได้อีก ในระยะแรกจะไม่เห็นผล แต่เมื่อถูกใช้อย่างต่อเนื่องหลายปี ผลเสียเริ่มพบในลูกผสมที่ใช้ในการเลี้ยง การปรับปรุงพันธุ์ต้องหาสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่ไม่อยู่ในกระบวนการเพาะเลี้ยงมาก่อน เพื่อป้องการการคัดเลือกที่ผิดวิธี ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยแบบไม่ได้ตั้งใจ จากเอกสารพบว่าปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา ซึ่งประเทศกานาอยู่ในเขตนี้ และสามารถติดต่อกับบุคคลที่จะรวบรวมส่งมาให้ได้

ส่วนปลาตระกูลปลานิล นำเข้ามาเพื่อทดลองประสิทธิภาพการเจริญเติบโต ว่าลูกผสมที่ได้จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม สรุปสาเหตุที่นำเข้าปลาทั้ง 2 ชนิดคือ 1.เพื่อลดการเกิดเลือดชิดของสายพันธุ์ที่มีอยู่ 2.เพื่อทดลองประสิทธิภาพการเจริญเติบโต 3.เป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของปลาทั้ง 2 ชนิด และไม่ได้ทำการคัดพันธุ์ขึ้น น่าจะยังคงความหลากหลายของยืน 4.เพื่อหาสวยพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ 5.สามารถติดต่อผู้ที่จะรวบรวมพันธุ์มาได้

ต่อมาวันที่ 21 พ.ย. 2549 ที่ประชุมคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัย และความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ครั้งที่ 4/2549 มีมติเห็นควรอนุญาตให้นำเข้าปลาดุก (Claries garlepinus) ขนาด 4-6 ซม. จำนวน 5,000 ตัว เพื่อการปรับปรุงพันธุ์

2.ปลาตระกูลเดียวกับปลานิลขนาด 4-6 ซม.จำนวน 5,000 ตัว เพื่อทดลองประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของลูกผสมว่าจะมีแนวโน้มอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม โดยในที่ประชุมได้มีการอภิปรายและพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ คือ ปัญหาของการเพาะเลี้ยงในปัจจุบัน เหตุผลความจำเป็นในการขออนุญาตนำเข้า และผลกระทบที่ได้เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทย เนื่องจากปลาทั้ง 2 ชนิด ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มาตรการควบคุมเงื่อนไขความรับผิดชอบในการทำการประมงอย่างมีจรรยาบรรณตาม พ.ร.บ.การประมง และที่ประชุมได้มีมติอนุญาตให้นำเข้าปลาทั้ง 2 ชนิด โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.กรมประมงจะขอเก็บตัวอย่างครีบ โดยไม่ทำให้ปลาตาย อย่างน้อย 30 ตัว เพื่อใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำจะเป็นผู้ดำเนินการ 2.เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้บริษัทแจ้งผลการวิจัย แก่กรมประมงเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิง 3.ควรมีการป้องกันและระวังไม่ให้สัตว์น้ำหลุดรอดลงไปในธรรมชาติ 4.ในกรณีที่การวิจัยได้ผลไม่ดี เมื่อบริษัทไม่มีความประสงค์จะใช้ปลาดังกล่าวอีกต่อไป จะต้องทำลายและเก็บรักษาซาก ให้กรมประมงเพื่อให้กรมประมงตรวจสอบ และ 5.หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมประมง จะมีผลต่อการพิจารณาอนุญาตสัตว์น้ำครั้งต่อไป โดยมอบหมายให้ส่วนอนุญาตดำเนินการแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัททราบ

จากนั้นวันที่ 24 พ.ย. 2549 กรมประมง ได้มีหนังสือแจ้งผลการขออนุญาตนำเข้าปลาดุกและปลาตระกูลปลานิล จากประเทศสาธารณรัฐกานา ระบุว่า อ้างถึงหนังสือบริษัทดังกล่าวลงวันที่ 18 ต.ค. 2549 ประสงค์จะขอนำเข้าปลาดุกรัสเซีย Claries garigpinus และปลาตระกูลปลานิล Sarothuradon melorahere เพื่อปรับปรุงพันธุ์และดูอัตราการเจริญเติบ โต เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม กรมประมงได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรอนุญาตให้นำเข้าได้ โดยปีเงื่อนไขดังนี้ 1.ปลาดุกรัสเซียขอเก็บตัวอย่างครีบ ภายหลังการนำเข้า 2.ปลานิลหรือปลาหมอเทศข้างลาย ขอเก็บตัวอย่างครีบภายหลังการนำเข้า และขอทราบผลการศึกษาอัตราการเจริญเติบโต เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม หากผลการศึกษาที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่ประสงค์จะทำการศึกษาต่อ ต้องทำลายปลาชุดดังกล่าวทั้งหมด โดยกรมประมงจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการทำลาย หากตกลงรับเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด จนให้ทำหนังสือตอบรับเงื่อนไขประกอบการยื่นการขอนำเข้าสัตว์น้ำที่มีชีวิตบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร ตามระเบียบกรมประมงต่อไป หลังมีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนรายดังกล่าว นำเข้าปลาตามที่ร้องขอมาทำการวิจัยได้ ต่อมาทางบริษัทแจ้งว่าไม่สามารถนำเข้าได้