จากกรณีข่าว พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ถึงความคืบหน้าสำคัญของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการพิจารณารายละเอียดโครงการฯ อย่างรอบคอบ สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ โดยทางทีม เดลินิวส์ออนไลน์ จะขอสรุปเงื่อนไขใช้ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สินค้าประเภทไหนซื้อได้บ้าง

เงื่อนไขการใช้จ่าย
1) การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) ซึ่งคาดว่าซื้อขายแบบพบหน้านี้ จะมีการตรวจสอบ
– ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการฯ
– ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ ลงทะเบียนโครงการฯ
– พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์

2) การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้แม้จะอยู่ต่างพื้นที่
3) ประเภทสินค้า : สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ

สิ่งที่ใช้จ่ายไม่ได้ (สินค้าประเภท Negative List)
ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ อาจพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายการสินค้า Negative List เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้การใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะไม่รวมถึงบริการต่าง ๆ…