กำลังเป็นกระแสฮือฮาสนั่นโซเชียลอยู่ในขณะนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา “นักไวรัสวิทยา” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์ข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ ที่สามารถอยู่รอดในระบบทางเดินอาหารของเป็ดได้ เช่น เป็ดกินไข่ปลา มูลที่ถ่ายออกมาไข่สามารถฟักเป็นลูกปลาได้อีก ลงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana

โดย ดร.อนันต์ ระบุข้อความว่า มีคนถามมาว่า “ข่าวไข่ปลาหมอคางดำ” อยู่ทน 2 เดือนเป็นจริงหรือไม่ จากการลองทำการค้นคว้าดู เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะไข่ปลาหลายชนิด เคยมีรายงานมาว่า สามารถทนต่อสภาวะที่ไม่เป็นมิตรต่างๆ ได้ดีมาก โดยเฉพาะกรณีในข่าว คือ สภาวะที่แห้ง ไม่มีน้ำ ไข่ปลาจะมีคุณสมบัติพิเศษในการลดการสูญเสียน้ำได้ดีมาก ผนังของเซลล์ไข่ปลาที่มีหลายชั้นแทบที่จะไม่ให้โมเลกุลของน้ำจากภายในหลุดออกไปข้างนอกได้เลย ในสภาวะตามข่าวไข่ก็จะอยู่นิ่งๆ รอจนมีโอกาสกลับมาโตเป็นปลาเต็มวัยได้ ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS เมื่อ 4 ปีก่อน พบว่า ไข่ปลาสามารถรอดอยู่ในระบบทางเดินอาหารของเป็ด หรือ นกน้ำ เช่น หงส์ได้ เรียกว่า endozoochory

นอกจากนี้ ดร.อนันต์ ยังระบุข้อความอีกว่า มีการทำการทดลองให้นกน้ำ เช่น เป็ดกินไข่ปลา แล้วไปพบว่ามูลของเป็ดที่ถ่ายออกมายังมีไข่ปลา ที่สามารถเจริญออกมาเป็นลูกปลาได้อีก ถึงแม้จะเหลือไข่ที่ฟักออกมาเป็นตัวได้ไม่มาก ในการศึกษาพบว่ามีประมาณ 0.2% แต่ก็อาจจะสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมปลาที่เป็น alien species สามารถพบได้ในแหล่งน้ำอื่นที่อยู่ห่างไกลได้ เป็นเพราะมีนกน้ำพาไข่ปลาไปขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำอื่นได้ ข้อมูลนี้น่าสนใจมากครับ ประกอบกับข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับไข่ปลาหมอคางดำที่ดูทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี ด้วยข้อมูลในการศึกษานี้ สมมติฐานที่ว่าการแพร่กระจายของประชากรปลาอาจเกิดขึ้นทางอากาศผ่านนกที่บินไปมาก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูล : Anan Jongkaewwattana