เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 ก.ค. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภาครั้งแรก เพื่อเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา อีก 2 คน โดยที่ประชุมเลือก พล.อ.ยุทธนา ไทยภักดี สว. ที่มีอาวุโสสูงสุด มาทำหน้าที่ประธานที่ประชุมชั่วคราว เพื่อดำเนินการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม พล.อ.ยุทธนา นำสมาชิก สว.ทุกคน กล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่

จากนั้นเข้าสู้ระเบียบวาระ โดย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว.สายสีน้ำเงิน เสนอชื่อนายมงคล สุระสัจจะ สว. อดีตอธิบดีกรมการปกครอง  เป็นประธานวุฒิสภา ขณะที่นายเศรณี อนิลบล สว.กลุ่มอิสระ เสนอชื่อ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เป็นประธานวุฒิสภา และนายนรเศรษฐ์ ปรัชยากร สว. เสนอชื่อ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ เป็นประธานวุฒิสภา โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์เป็นเวลา 5 นาที

โดยเมื่อเวลา 10.31 น. นพ.เปรมศักดิ์ ลุกขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์เป็นคนแรก ว่า การเลือกวุฒิสภา มาเป็นแบบฐานอาชีพจากฐานต่างๆรวม 20 สาขาอาชีพ จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก วิจารณ์ในเรื่องของฐานที่มาอาชีพ วิจารณ์ว่าไม่ตรงปก วิจารณ์ว่ามีการครอบงำจากกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ สีนั้นสีนี้ ซึ่งรู้แล้วเป็นคนดี ต่อ สว. ทั้ง 200 คน ตนจึงมุ่งมั่นอาสามาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ และสิ่งที่ปรากฏในด้านลบ เพราะวุฒิสภาของเราถือว่าเป็นสภาสูง เป็นสภาที่ทรงเกียรติ เป็นสภาที่ประชาชนคาดหวังในการทำงาน

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า 1.เสื้อของเรานั้น ถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิด มันจะผิดไปทั้งหมด ดังนั้นการกลัดกระดุมเม็ดแรกของ สว. คือการที่เราต้องเป็นอิสระเป็นกลางไม่ถูกครอบงำ ไม่ว่าจะจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน ดังนั้นหลายคนวิจารณ์ที่มาของเรา ว่ามาแบบนั้นแบบนี้ ตนคิดว่าที่มาห้ามยาก เพราะว่าเรามากันแล้ว แต่ที่ไปเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ เพราะ 5 ปีต่อจากนี้ เราจะไปอย่างไรจากเวทีวุฒิสภา 5 ปีต่อจากนี้ ถ้าเราเลือกที่จะเป็นกลางเลือกที่จะเป็นอิสระ เราก็ได้รับความชื่นชมจากประชาชนอย่างแน่นอน แต่ถ้าเราเลือกอีกด้าน เราก็จะถูกตาหน้าว่า สภาใบสั่ง สภารีโมต สภาหวยล็อก สภาบล็อกโหวต สุดแล้วแต่จะว่าไป เพราะวุฒิสภา อันดับแรก คือการกลั่นกองกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร สิ่งเหล่านี้คือการตรวจสอบควบคุมระดับการบริหารโดยใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นกฎหมายที่มาจากสภา จะต้องถูกการกรองโดยการไม่ชี้นำ ไม่ว่าจะการพรรคเมืองไหนทั้งสิ้น

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า 2.การเห็นชอบองค์กรอิสระจะต้องไม่มีใบสั่ง ว่ามาจากบ้านนั้นบ้านนี้ ผู้ยิ่งใหญ่คนนั้นคนนี้ เพราะถ้าอย่างนั้นการกำหนดองค์กรอิสระการเห็นชอบจะไร้ความหมาย และจะเกิดต่อความยอมรับกับพี่น้องประชาชน และ 3.การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การตั้งกระทู้เป็นอาวุธสำคัญของสมาชิกวุฒิสภา ในการควบคุมในการบริหารของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต้องตอบกระทู้สดด้วยตนเอง ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีมอบหมายรัฐมนตรีว่าการ และมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วย เราต้องยืนยันศักดิ์ศรีของวุฒิสภาในการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นกระทู้ถามด่วน หรือในระดับของกรรมธิการต่างๆ จะต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อดำรงไว้ซึ่งการควบคุมรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ

“3 ประการนี้ ประธานวุฒิสภาจะทำได้ จะต้องมีสุขภาพที่ดี หลายครั้งที่ประชุมถ่ายทอดสดการประชุมสภา ท่านประธานประชุมอยู่ดีๆเกิดปวดปัสสาวะ และมอบรองประธานไม่ทัน ท่านประธานจำเป็นต้องลุกไปเข้าห้องน้ำ ทำให้เป็นอันว่าต้องปิดประชุมกะทันหัน เพราะการปวดปัสสาวะห้ามไม่ได้ แต่รองประธานขึ้นมารับงานไม่ทัน ก็ต้องปิดประชุม ถ้าจะไป ถ้าจะประชุมใหม่ ก็ต้องนัดอีกสามวัน เพราะ ฉะนั้นสุขภาพต้องดี บางคนเก่ง แต่กาลเวลาผ่านไปแพ้สังขาร เห็นหรือไม่ โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โยนผ้าขาวแล้ว เพราะไปไม่รอด สังขารไม่ให้ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจังถ้าไม่ไหวก็อย่าฝืน ผมอายุ 59+5 คือ 64 ปี พร้อมจะทำหน้าที่ประธาน โดยมีสุขภาพที่ดี จึงขอให้สมาชิกได้พิจารณาด้วยเนื้อผ้า อย่าพิจารณาโดยที่เขาบอกว่ามีเสียงล่วงหน้ามาแล้ว 143 เสียง อย่างนี้ สภาของเราจะไม่พ้นคำครหา ผมจึงขอฝากสมาชิกได้ลงมติเลือกประธาน อย่าได้มองว่าผู้สมัครคนอื่นเป็นเพียงไม้ประดับ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ที่ประชาชนมองอยู่ทั่วประเทศ และคาดหวังจากสภาของเรา” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว

ต่อมาในเวลา 10.36 น. นางนันทนา แสดงวิสัยทัศน์ ว่า ที่ผ่านมา วุฒิสภาดูจะเป็นสภาที่ห่างเหินจากการรับรู้ของประชาชน และวุฒิสภาไม่ยืดโยงกับประชาชน และไม่ใช่สถาบันที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ภาพลักษณ์เหล่านี้คือภาพที่บั่นทอนศรัทธามหาชน และนี่คือโจทก์สำคัญว่าเราจะมาฟื้นฟู ภาพลักษณ์ของ สว. ยุคใหม่ ประชาชนทั้งประเทศจะรู้สึกเป็นเจ้าของ สว. ก็ต่อเมื่อเราทำให้วุฒิสภาเป็นของประชาชน เราจะทำให้สภาของประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างไร แม้ที่มาของ สว.ชุดนี้ จะไม่อาจกล่าวได้ว่ามาจากประชาชน แต่เรายึดโยงกับประชาชน เนื่องจากผู้จ่ายภาษีเป็นเงินเดือนของเรา ด้วยแนวทาง 5 ส. ประกอบด้วย สัมพันธ์ สร้างสรรค์ สื่อสาร สมดุล สากล

นางนันทนา กล่าวต่อว่า 1. ส.สัมพันธ์ คือเราจะสร้างความรู้สึกผูกพัน เป็นเจ้าของ โดยเปิดพื้นที่สภาให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ประชาชนสามารถเดินเข้ามาฟังการประชุมสภาได้ทุกวันที่มีการประชุม พื้นที่สวนเปิดให้ประชาชนเข้ามาออกกำลังกายสูดอากาศบริสุทธิ์ ห้องโถงใหญ่เปิดให้สถาบันการศึกษา องค์กร จัดนิทรรศการแสดงนวัตกรรมได้ เราจะจัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานใดๆ ทุกข้อร้องเรียนจะถูกนำไปสู่การแก้ไข เราจะเป็นวุฒิสภาเชิงรุก เข้าหาประชาชนโดยจัดรายการ สว. ฟังเสียงประชาชนจัดเวทีสังสรรค์ เสวนากับประชาชนในทุกพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ 2.ส.สื่อสาร วุฒิสภายุคใหม่ จะใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการยึดโยงกับประชาชน โดยเราจะสื่อสารการทำงานของ สว. ผ่านการถ่ายทอดสดการประชุมสภา ผลักดันให้มีการถ่ายทอด กรรมาธิการทุกคณะจะแถลงผลการทำงานทุกด้านผ่านสื่อมวลชน และจะตอบทุกคำถามกับสื่อมวลชน โดยยึดหลัก สว. รู้อะไรประชาชนรู้อย่างนั้น

น.ส.นันทนา กล่าวอีกว่า 3.ส.สร้างสรรค์ วุฒิสภายุคใหม่ จะทำงานอย่างสร้างสรรค์โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยใช้เวทีของสภาถกเถียงประเด็นที่เป็นปัญหาของสังคม เริ่มจากการบรรจุระเบียบวาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเข้าสู่ที่ประชุมควบคุมการอภิปรายอย่างเป็นกลาง ให้อยู่ในประเด็นสะท้อนปัญหาและได้ข้อยุติ สภาแห่งนี้ต้องเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง ที่มีอำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาล ตอบกระทู้ถามในการแก้ปัญหาสำคัญๆ โดยให้ความเคารพต่อสถาบันและไม่บ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยงเช่นที่ผ่านมา 4.ส.สมดุล วุฒิสภายุคใหม่ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในสังคม เราจะเปิดกว้างให้กับทุกศาสนา เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศ เปิดรับทุกเชื้อชาติโดยไม่กีดกันแบ่งแยก เราจะต้อนรับคนทุกวัย สภาคือพื้นที่แห่งความเท่าเทียมกัน เราเคารพสิทธิมนุษยชน เราจะออกรับบุคลากรเข้ามาทำงาน และทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับสภาของเรา และ 5.ส.สากล วุฒิสภายุคใหม่ต้องเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ มีกฎระเบียบข้อบังคับที่ทันสมัยเป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล เป็นแบบอย่างของประเทศในอาเซียน ทำให้ประเทศไทยได้ยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลก ทั้งนี้ นี่คือวิสัยทัศน์ที่คนที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาเราจะดำดำเนินการห้า 5 ส.

”เวลาที่ประชาชนจะให้โอกาสเรา ในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของวุฒิสภาแห่งนี้เหลือน้อยเต็มที การตัดสินใจของเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหลาย จะเป็นการชี้ชะตาอนาคตของวุฒิสภาแห่งนี้ ท่านเลือกได้ที่เป็นตำนานในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวุฒิสภาในฐานะผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย 5 ปี ของวุฒิสภายุคใหม่จะไม่สูญเปล่า แต่จะเป็นสภาแห่งความหวังสภาแห่งความศรัทธา ดิฉันขออาสาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ในบทบาทประธานวุฒิสภา และขอวิงวอนท่านสมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติทุกท่าน มาร่วมกันทำให้วุฒิสภายุคใหม่ เป็นสภาของประชาชน ให้เป็นหนึ่งในเสาหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หนึ่งเสียงของท่านสร้างสิ่งนี้ให้เป็นจริงได้“ น.ส.นันทนา กล่าว

และในเวลา 10.44 น. นายมงคล ลุกขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์เป็นคนสุดท้าย ว่า ขอบคุณสมาชิกที่เสนอชื่อให้พิจารณาเลือกประธานวุฒิสภา นับตั้งแต่ตนบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ตนสำนึกว่าแผ่นดินนี้ ได้ให้โอกาสตนมากมายเหลือเกิน ตนตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะอุทิศชีวิต ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดินรับใช้ประชาชน รักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นปณิธานที่แน่วแน่ยึดมั่นมาตลอดตั้งแต่รับราชการจนถึงปัจจุบัน และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะมารับเลือกเป็น สว. คือความหวังที่จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตทำงานเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน เพื่อรับใช้ ประชาชน แก้ไขปัญหาคนในชาติ ในช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

นายมงคล กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่วันนี้ตนจะตั้งใจทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามที่ตนหวังไว้ และเชื่อว่าทุกท่านก็มีความตั้งใจไม่ต่างไปจากตน การปฏิบัติหน้าที่ด้านนิติบัญญัติในฐานะ สว. ที่ต้องการให้ประเทศไทย และคุณภาพชีวิตของคนไทย ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และดีขึ้นในทุกๆ มิติ ซึ่งการทำงานของวุฒิโดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายอย่างตรงไปตรงมา จะนำไปสู่สิ่งนั้นได้ ตนอยากเห็นสังคมไทย คนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน เราเห็นต่างกันได้ แต่เราต้องไม่สร้างความแตกแยก เราจะเริ่มต้นจากความเป็นหนึ่งเดียวของวุฒิสภาแห่งนี้ วุฒิสภาเป็นองค์กรด้านนิติบัญญัติเป็นองค์กรสำคัญ ที่จะพาสังคมไทย เดินหน้าไปได้ด้วยสันติวิธี รวมถึงมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เหมาะสม สอดคล้องกับประเทศไทย และคนไทย อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นภารกิจของเราทุกคนในฐานะสมาชิกวุฒิสภา วิกฤติที่เกิดขึ้น ทั้งในทางการเมืองในทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่ประเทศอื่นก็เป็น เพราะฉะนั้น เราจะไปหวังให้ใครมาช่วยเราไม่ได้ เราคนไทยต้องช่วยกัน

นายมงคล กล่าวอีกว่า ชีวิตตนมาจากก้อนดิน ก้อนทราย เป็นเด็กวัดเรียนอาชีวะ ตนเข้าใจความยากจนข้นแค้น ตนไม่มีเส้นมีสาย ตนเติบโตมาในระบบราชการ ด้วยการทำงานอย่างหนัก เต็มความรู้ความสามารถ ตนมีประสบการณ์ในการประสานงานกับพี่น้องประชาชนคลุกคลีกับพี่น้องประชาชนในชนบทมาโดยตลอดชีวิต เมื่อเกษียณอายุราชการ ก็ยังไปทำไร่อยู่ในชนบท เพราะฉะนั้น ผมทราบดี ผมเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนสมาชิก ตนเข้าใจปัญหา ตนมีประสบการณ์อันยาวนาน และมีเพื่อนอยู่ทุกหมู่เหล่า

“ผมเชื่อว่า ผมสามารถที่จะเข้าใจ และทำงานร่วมกับทุกคนได้ วุฒิสภาในปัจจุบัน ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผมว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญปี 60 ปฏิรูปใหญ่ในเรื่องนี้ ให้สภาเป็นของคนทุกหมู่เหล่าแบ่งเป็น 20 อาชีพ ถือเป็นครั้งแรกที่วุฒิสภาได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาทำหน้าที่แทนกลุ่มอาชีพของตัวเอง ประชาชนได้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อประชาชน ขอให้ทุกท่าน ได้รักษาไว้ หากผมได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา ผมจะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามข้อบังคับ กฎหมายต่างๆ ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติทางด้านนิติบัญญัติอย่างเต็มสติปัญญา เต็มความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะรับใช้ และอำนวยความสะดวก ให้กับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกทุกท่าน ผมพร้อมที่จะนำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ประสานงานกับทุกท่านให้เป็นเนื้อเดียวกันให้เร็วที่สุด และขอเชิญทุกคนมาช่วยงานกัน และก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้วุฒิสภาแห่งนี้ บรรลุผลความเป็นสภาของสามัญชนจากกลุ่มวิชาชีพดังๆ เป็น สภาที่ประนอมอำนาจ เพื่อดับวิกฤติของสังคมไทย” นายมงคล กล่าว

จากนั้นได้เริ่มลงคะแนนลับด้วยการเขียนชื่อ แล้วเข้าคูหา.