จากกรณีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Pai Charudul” ได้โพสต์ภาพพร้อมคำบรรยาย ซึ่งเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ถูกติดตั้งอยู่บริเวณสี่แยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยภายในป้ายมีพยัญชนะจีน รูปภาพหนังสือเดินทาง (Passport) ของประเทศอินโดนีเซีย วานูอาตู กัมพูชา และตุรกี พร้อมจำนวนเงินค่าใช้จ่าย รวมถึงได้มีการระบุช่องทางการติดต่อใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ อาทิ ไลน์ (Line) วอตส์แอปป์ (WhatsApp) วีแชต (WeChat) อีกทั้งยังปรากฏผู้ชายสูงวัยสวมแว่นสายตา รูปร่างภูมิฐานอยู่บนด้านขวาของภาพ ลักษณะถือหนังสือเดินทางสีน้ำตาล ด้วยความสงสัยว่าเป็นโฆษณาใด เจ้าของโพสต์จึงได้ใช้แอปพลิเคชันแปลภาษา พอสรุปได้ใจความเบื้องต้นว่าเป็นป้ายโฆษณาขายหนังสือเดินทางตรวจคนเข้าเมืองอย่างรวดเร็ว รวมถึงการแปลงสัญชาติถูกกฎหมาย 100% โดยมีให้เลือกสัญชาติ คือ อินโดนีเซีย ราคา 30,000 วานูอาตู 70,000 กัมพูชา 100,000 และตุรกี 150,000 โดยไม่ได้ระบุค่าเงินที่ชัดเจน อีกทั้งป้ายโฆษณายังระบุอีกว่าทำหนังสือเดินทางได้ภายใน 30 วัน ปลอดภัยเป็นความลับ ทำเสร็จค่อยจ่ายเงิน และรับสมัครตัวแทนทั่วโลก เป็นกลุ่มบริษัทเชี่ยวชาญด้านการย้ายประเทศ ก่อตั้งมากว่า 13 ปี และได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าในประเทศไทยสามารถซื้อขายสัญชาติได้หรือไม่นั้น ก่อนมีการปลดป้ายออกเมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 ก.ค. ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

สั่งปลดป้ายชวนซื้อพาสปอร์ตย้ายประเทศ เร่งสอบขออนุญาต-เสียภาษีถูกต้องหรือไม่

ติดโจ่งแจ้งขนาดนี้เลย? ป้ายโฆษณาภาษาจีน ชวนซื้อพาสปอร์ตย้ายประเทศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 ก.ค. “ทีมข่าวอาชญากรรมเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยชี้แจงข้อเท็จจริงจากนายเอ (นามสมมุติ) เจ้าของเบอร์โทรศัพท์บนป้ายโฆษณาบริเวณสี่แยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ว่า สำหรับการติดป้ายโฆษณาดังกล่าว ผู้ประสานขอติดป้ายได้มีการติดเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นคนจีนโทรศัพท์มาขอติดป้าย ใช้การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งได้แจ้งความประสงค์ติดป้ายโฆษณามาว่า เป็นบริษัทเกี่ยวกับ Immigration และรับทำหนังสือเดินทาง (Passport) แต่ไม่ได้มีการลงรายละเอียดใดๆ อีกทั้งจากเนื้อหาบนป้ายโฆษณา ตนก็ไม่ได้ทราบได้ว่าเนื้อหาถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นการใช้แอปพลิเคชันแปลภาษา (Google Translate) เพียงแต่ว่าเราไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้น จึงได้สั่งให้มีการปลดป้ายออกทันที

เมื่อถามว่าในตอนที่ชาวจีนประสานติดป้ายโฆษณามาที่บริษัท ก่อนหน้านี้ได้มีการส่งแบบร่างไวนิล (Draft) มาให้ตรวจสอบก่อนหรือไม่ ว่าเนื้อหาเป็นลักษณะใด นายเอ แจงว่า ทางชาวจีนได้มีการส่งดราฟต์มาจริง ซึ่งเราก็ได้ดู แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่มีภาษาไทยเลย เราเองก็ไม่มีความรู้ แปลไม่ออก ไม่ทราบความหมาย เรามีเพียงความรู้เรื่องภาษีป้าย จึงบอกให้เขาปรับเรื่องภาษีป้าย หรือปรับรูปแบบ เรียนตรงๆ ว่าเราก็ไม่รู้ว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด แต่ถ้าสังคมเอ๊ะ เราก็ไม่อยากให้เกิดประเด็นในสังคม ก็รีบดำเนินการแก้ไขปลดออก เพราะเล็งเห็นว่าเนื้อหาภายในป้ายมันไม่เรียบร้อย มีความสุ่มเสี่ยงจึงได้ขอปลดป้ายออกภายในวันนี้ (22 ก.ค. 67) อย่างไรก็ตาม จะเรียกว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่เชิง เพราะภายหลังทราบเรื่องวานนี้ (21 ก.ค.) เราได้รับการติดต่อมาว่าให้ตรวจสอบข้อความในป้าย พอเราตรวจสอบเสร็จ จึงได้สอบถามไปทางบริษัทจีนในช่วงกลางคืนวันที่ 21 ก.ค. ซึ่งทางบริษัทก็แจ้งกับเราว่า “บริษัทมีการรับทำเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง และ Immigration” ตนเลยถามต่อว่า “รับทำอย่างไร” ทางนั้นก็แจ้งว่า “เป็นกรณี 2 Passport” จากนั้นเราเลยแจ้งกลับไปว่า “ประเทศไทย คนถือพาสปอร์ตต้องถือพาสปอร์ตเดียว ไม่ใช่สองพาสปอร์ต” ทางบริษัทก็ตอบกลับมาอีกว่า “มันมีทำสองพาสปอร์ตได้ คือ ตุรกี เป็นต้น” ซึ่งตนก็ตอบกลับไปว่า “อันนั้นเข้าใจได้ แต่ถ้ามันสุ่มเสี่ยง เราก็ไม่อยากให้มีปัญหา จึงขอหยุดการดำเนินการ”

นายเอ กล่าวอีกว่า ต้องเรียนตามตรงว่าพอมันเกิดเรื่องราวขึ้น ภายในคืนวันที่ 21 ก.ค. เราก็ได้ประสานพูดคุยกับบริษัทผู้ลงโฆษณาว่าต้องปลดป้าย เพราะเราจะไปผิดข้อสัญญาอะไรกับเขาก็ไม่ได้ จึงต้องบอกกล่าวเขาก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ส่วนเงินที่เขาได้วางชำระไว้ก็อาจจะต้องคืน แต่ขณะนี้มันอยู่ในกระบวนการกฎหมาย ซึ่งทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก็ได้ประสานขอข้อมูลกับตนเองเรียบร้อยแล้ว รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ของการลงป้ายโฆษณา ก็เป็นข้อมูลที่ตนได้ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ซึ่งต้องขอสงวนรายละเอียดนี้ไว้ก่อน หลังจากนี้เราก็เตรียมปฏิบัติตามคำสั่งและกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ยินดีให้ความร่วมมือทั้งหมด

นายเอ กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะเป็นป้ายโฆษณาของบริษัทจีนดังกล่าว ส่วนใหญ่เราให้บริการติดป้ายโฆษณาคอนโดมิเนียม ซึ่งไม่เคยมีป้ายลักษณะธุรกิจเช่นนี้มาก่อน ถือเป็นครั้งแรก ส่วนกรณีที่บริษัทจีนสนใจมาติดป้ายโฆษณาที่แยกห้วยขวาง-รัชดา อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นย่านของคนต่างชาติ เป็นย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ (CBD : Central Business District) และเป็นแยกรถติดที่คนสัญจรไปมามีเวลามองป้ายนานๆ ทั้งนี้ ตนจะต้องเข้าไปให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม. และยืนยันว่าการทำธุรกิจเอเจนซี่ลงป้ายโฆษณา เรายึดหลักธรรมาภิบาลมาตลอด ยอมรับว่าไม่ล่วงรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แต่พอทราบเรื่อง เราก็รีบตรวจสอบและเข้าไปแก้ไขโดยเร็ว และไม่ได้มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดมากดดันทั้งสิ้น.