แล้วที่กาน่ามีปัญหาหรือไม่ ? ไม่มีรายงานข่าวว่าเขามีปัญหากับปลาพื้นถิ่นของเขาชนิดนี้  ซึ่งจากที่เคยไปสืบเสาะหาดูรูปปลาย่านแอฟริกาตะวันตกมา ก็พบว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะปลานักล่าตัวใหญ่บึ้มทั้งนั้น แต่มาประเทศไทย เผลอๆ ปลานักล่าตัวใหญ่ๆ ตามแหล่งน้ำธรรมชาติไทยน่าจะโดนจับเหี้ยนหมดแล้ว

ก็มีแนวคิดการจัดการปลาหมอคางดำในเชิงให้ใช้ปลานักล่า อย่างปลากะพงขาวไปปล่อยไว้ในแหล่งที่มีการแพร่ระบาด ได้ผลหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ แต่ก็มีการแสดงความเห็นไปต่างๆ นานา ในเชิงไม่น่าจะได้ผล เพราะกะพงขาวที่ปล่อยไปเป็นไซส์เล็ก น่าจะกินได้แต่ลูกปลา และมันไม่ได้กินบ่อยมาก พออิ่มทีมันก็หยุดกินไปพัก

เลยเชื่อกันว่า การใช้กะพงนักล่าไม่น่าจะช่วยได้เท่าไร คนลงแขกจับกันเองน่าจะดีกว่า แต่ฝ่ายคนต้นคิดก็บอกว่าได้ผล พร้อมทั้งนี้ยังมีนโยบายในการตัดต่อพันธุกรรมปลาหมอคางดำ ปล่อยให้ไปผสมพันธุ์กับปลาที่ระบาดอยู่ตอนนี้แล้วทำให้ลูกที่ออกมาจะมีโครโมโซมที่เป็น 3n ไม่สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ต่อไปได้ คือ การทำให้ปลาเป็นหมัน

อย่างไรก็ตาม บทเรียนสำคัญของเรื่องปลาหมอคางดำ เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดคือ การนำเข้าเอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งต่อไปต้องมีความรัดกุมให้มากขึ้น กฎหมายต้องแรง ตรวจเข้มให้เหมือนออสเตรเลีย ระวังพวกตลาดสัตว์เลี้ยงแปลก ( exotic ) สัตว์น้ำ ตอนนี้หน่วยงานไหนรับผิดชอบการนำเข้าสัตว์เลี้ยงสวยงามพวกนี้จับตาเข้มด้วย   

ออสเตรเลียเข้มมาก อะไรที่เป็นเชื้อชีวิตได้อย่างเมล็ดพืชยังห้ามนำเข้า เพราะเขาเข้าใจถึงลักษณะนิเวศวิทยาที่เปราะบาง แต่ของไทยเรา บางทีก็หย่อนยาน อย่างปลาหมอคางดำก็มีการโบ้ยว่า น่าจะเป็นพวกนำเข้าปลาสวยงามเอามาพัฒนาสายพันธุ์  แบบเดียวกับปลาซัคเกอร์ หรือปลาเทศบาล ที่ก็เต็มลำน้ำอยู่ขณะนี้ ก็มาจากตู้ปลาใครสักกลุ่มแหละ

การสร้างการสื่อสารต้องชัดเจนไปถึงขั้นสร้างพฤติกรรม คือ“ไม่ปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติ”  เอาง่ายๆ อย่างปลาดุก ปลานิล อย่าไปปล่อยมันเอาบุญ ถ้าเป็นเมืองพุทธกันนักก็ตีความเสียใหม่ว่า คนซื้อสัตว์พวกนี้ปล่อยทำบุญคือสนับสนุนธุรกิจค้าชีวิต เพราะพ่อค้าแม่ค้าไปจับมาให้ปล่อย แถมปล่อยผิดสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่มันตายอีก

ในส่วนมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำ ก็“ให้ความรู้อย่างมีความหวัง”กันบ้างก็ได้ เห็นกูรูบางคนแนะนำนี่แบบ..รัฐบาลทำอะไรก็ผิดไปหมด.. ก็ให้เข้าใจว่า เขาใช้หลายมาตรการช่วยๆกันให้มันหมดเร็วๆ โดยเฉพาะที่อันตรายคือมันจะไปป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนอยู่แล้ว ตอนนี้ก็จูงใจโดยการรับซื้อกิโลละ 20 บาท

พอจะรับซื้อก็มีคนบอกให้ระวัง cobra effect อีก นั่นคือกรณีอินเดียที่อังกฤษจ้างล่างูแพง จนคนอินเดียไปเพาะงูหลอกขาย ..แต่เอาเป็นว่า ถ้าทำอะไรแล้วจะกินน้ำเห็นปลิงไปหมดเห็นทีจะยิ่งเละเทะ ..บางทีสังคมเราก็ต้องการทั้งการให้ความรู้ และมีความสามัคคีด้วย หากมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ใช่อะไรๆ ก็หยามหยันไม่น่าจะได้ผลไปหมด

เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติอยู่ เพราะไม่อย่างนั้นความหลากหลายของอาหารจากสัตว์น้ำจะหมด ก็ต้องดูการทำงานของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์  นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ และข้าราชการประสานงานกันกำจัดได้เร็วแค่ไหน จะได้เป็นบทเรียนจัดการเอเลี่ยนสปีชีส์อื่นและดึงคะแนนนิยมให้พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.)

เป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องวัดฝีมือ นอกจากเรื่องที่ดินทำกินและราคาสินค้าเกษตร.