ที่ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 21 ก.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมคณะ เดินทางไปร่วมการจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 36 ณ โรงแรมหนองคายธาวิลล่า อ.เมืองหนองคาย โดยมีนายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ สส.หนองคาย  พรรคพลังประชารัฐ  น.ส.ชนก จันทาทอง สส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย และนายสมภพ สมิตะสิริ ผวจ.หนองคาย พร้อมข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายของรัฐบาลไว้ชัดเจนประการแรก “การนำทุกข์ของประชาชนออกไป” คือการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน รวมถึงหนี้เกษตรกร และหนี้ต่างๆ ที่ไม่ใช่หนี้สาธารณะ นอกจากนี้ยังรวมถึงหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สิ่งที่ได้ประกาศไว้นั้นได้ดำเนินการแล้ว เช่น การแก้หนี้นอกระบบโดยมอบหมายกระทรวงมหาดไทยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินการ แต่หนี้อีกประมาณ 90% เป็นหนี้สินในระบบ โดยวันนี้กรมบังคับคดีมีการบังคับใช้กฎหมายในการบังคับคดีที่มีการตั้งเรื่องไว้มากกว่า 3 ล้านคดี ทุนทรัพย์หลายหมื่นล้าน มีการยึดทรัพย์เตรียมขายทอดตลาดอีกกว่า 7 แสนคดี ซึ่งทั้งหมดนี้คือทุกข์ของประชาชน

ส่วนหนี้ กยศ. ตนเตรียมใช้โอกาสในการจัดเวทีนี้ มอบหมายอดีตผู้บัญชาการ ป.ป.ส. พูดคุยกับผวจ.หนองคาย เพื่อวางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาหนี้ก้อนนี้ในพื้นที่ประมาณ 6.8 ล้านบาท เป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.8 ล้านบาท ให้ได้รับสิทธิต่างๆ โดยกระทวงยุติธรรมร่วมวางแผนกับ กยศ. ว่าในกลุ่มผู้ค้ำประกันหนี้ประมาณ 3.8 ล้านบาท เนื่องในปีมหามงคล 30 ธันวาคม นี้ กระทรวงยุติธรรมจะพยายามหาแนวทางเพื่อให้การค้ำประกันเป็นศูนย์ ซึ่งปัญหาหนี้ กยศ.ในพื้นที่หนองคาย มีหนี้ก้อนนี้ไม่มาก ก็หวังว่าจะผลักดันได้ในไม่เกินปลายปี

อย่างน้อย ลูกหนี้ กยศ.ที่มางานนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ห่วงตนเอง แต่ห่วงผู้ค้ำซึ่งเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่า เพราะกังวลทรัพย์ของครอบครัว เป็นที่มาของเป้าหมายในการวางยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายของรัฐบาลด้วย

สำหรับหนี้สินในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือหนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต โดยมหกรรมในครั้งนี้จะเป็นการใช้แนวทางของ ความยุติธรรมทางเลือก ความยุติธรรมสมานฉันท์ นอกจากนี้ยังมีมิติใหม่เกิดขึ้น คือ รัฐบาลจะสร้างให้ประชาชน มีรายได้เพียงพอ มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการสร้าง 6 อ. คนต้องมีอาหารกิน มีอาชีพ มีโอกาส อัตลักษณ์ ต้องไม่ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเว็ต 10,000 บาท เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจท้องถิ่น แตกต่างสิ้นเชิงจากเดิมงบประมาณที่กระจายสู่ท้องถิ่นไม่ถึง 3% จาก 3 ล้านล้านบาท ทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการนำงบประมาณกระจายลงท้องถิ่นอย่างแท้จริง ถือเป็นครั้งแรกที่คนในชุมชนจะได้รับตรงในเงินงบประมาณของรัฐ