เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ผู้สื่อข่าวประจำ จ.นครศรีธรรมราช รายงานความคืบหน้าการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์มหันตภัยจากต่างแดน ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพประมงท้องถิ่นเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ในเขตลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งพบว่ามีการแพร่ระบาดขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ แม้จะมีการจัดกิจกรรม “คิกออฟไล่ล่า ปลาหมอคางดำ” ไปเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา จนสามารถจับปลาหมอคางดำได้กว่า 3 ตัน

นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำหรับความเสียหายของบ่อเลี้ยงกุ้ง นายวรรณะ ยอดแก้ว และ นายกรวิทย์ ยอดแก้ว สองพ่อลูกในหมู่ 6 ต.เพราะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ที่โดนปลาหมอคางดำแพร่ระบาดลงในบ่อเลี้ยงกุ้ง จนพบว่ากุ้งหายไปเกือบ 1.5 ตัน เมื่อรวมค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นและอื่นๆ ยอดความเสียหายเกือบ 4 แสนบาท ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานยื่นขอรับการชดเชยเยียวยาจากทางราชการ โดยให้นางเยาวดี โต๊ะเอียด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.เกาะเพชร ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของนายวรรณะ ยอดแก้ว เข้ายื่นหนังสือกับนายอำเภอหัวไทร ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ (19 ก.ค.)

ส่วนต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างหนักในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพราะก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ประมงไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจ และรู้จักตระหนักถึงพิษภัยของปลาหมอคางดำ ทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำส่วนใหญ่ไม่รู้จักปลาหมอคางดำ คิดว่าเป็นปลานิล ซึ่งสามารถเลี้ยงในบ่อเดียวกันกับกุ้งและสัตว์น้ำทุกชนิดได้ ซึ่งปลานิลจะช่วยกินตะไคร่น้ำและขี้กุ้ง ช่วยปรับสภาพบ่อไปในตัว และเพิ่งมาทราบว่าไม่ใช่ปลานิล แต่เป็นปลาหมอคางดำมหัตภัยจากต่างแดน

ในช่วงที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะ หนังสือพิม์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ เข้ามาเกาะติดนำเสนอข่าวในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างต่อเนื่อง เมื่อต้นเดือน ก.ค. 67 ที่ผ่านมา เกษตรกรจึงเข้าทำการตรวจสอบในพื้นที่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำและบ่อกุ้งของตัวเอง และจนพบว่ามีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในบ่อเลี้ยงและตามแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมาก จึงรีบใช้กากชาโรยฆ่าปลาหมอคางดำ ซึ่งฆ่าได้ทันบ้างไม่ทันบ้าง โดยบางบ่อหากปลาหมอคางดำเข้าไปช่วงกุ้งตัวใหญ่แล้ว จำนวนกุ้งในบ่อลดลงไม่มากนัก แต่บ่อที่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดลงไปตั้งแต่วันเริ่มปล่อยลูกกุ้ง รับรองปลาหมอคางดำกินกุ้งเกลี้ยงบ่ออย่างแน่นอน.