เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2567 ซึ่งตรงกับ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกๆ ปี เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน ถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ คือ เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระพุทธศาสนา เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” เป็นวันแรกที่พระสงฆ์สาวกเกิดขึ้นในโลก คือ ฤาษีโกณฑัญญะ ได้บวชเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์

อีกทั้ง วันที่ 21 ก.ค. เป็นวันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ซึ่งคำว่า “เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษา ให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในช่วงฤดูฝนนี้

ซึ่งทั้ง 2 วัน เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของไทย บรรดาชาวพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศไทย จะพาผู้หลักผู้ใหญ่ผู้สูงอายุ และลูกๆ หลานๆ ออกมาบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ถวายแด่พระสงฆ์กันในช่วงเช้า และในช่วงเย็น จะมีจัดกิจกรรมเวียนเทียน ณ วัดต่างๆ ทั่วประเทศตามประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา โดยบรรยากกาศเป็นไปอย่างคึกคัก

โดยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ จาก อบต.ตลิ่งชัน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ไปตามลำคลองโพธิ์ ซึ่งเป็นคลองโบราณระยะทางกว่า 3 กม. โดยมีนายประพันธ์ ตรีบุปผา รอง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา และนายก อบต.ตลิ่งชัน พร้อมด้วย พล.ต.โชติ ภาคอินทรีย์ นายกสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเรือของพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดน้ำดอกโสน ซึ่งเป็นตลาดชุมชนของชาวบ้านคลองโพธิ์มาร่วมขบวนแห่ และมีหน่วยงานต่างๆ เช่น ททท. และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มาร่วมตกแต่งขบวนเรือด้วย โดยขบวนเรือมีจำนวนกว่า 50 ลำ ล่องไปตามลำคลอง ซึ่งได้รับการพัฒนาจากคลองที่ไม่มีชีวิต จนปัจจุบันมีการเปิดเป็นตลาดน้ำดอกโสน ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว โดยขบวนเรือจะได้นำไปถวายยังวัดต่างๆ ที่อยู่ริมคลองโพธิ์ รวม 5 วัด

จ.เชียงใหม่ ที่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ถวายแด่พระสงฆ์ 73 รูป โดยมี พระเทพสิงหวราจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีส่วนราชการ พุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

ที่ เทศบาลนครพิษณุโลก ร่วมใจถวายเทียนพรรษา จัดเป็นขบวนนางรำกว่า 300 ชีวิต นำโดยนางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก และประชาชนในชุมชน 54 ชุมชนเมือง ตามประเพณีของชาวพิษณุโลก ที่จัดสืบทอดต่อกันมาเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชน พร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดผ้าไทยพื้นเมือง แห่ไปตามถนนสายหลัก ตั้งแต่สวนกลางเมือง เพื่อนำขบวนรถบุปผชาติ ที่มีเทียนพรรษาต้นใหญ่ พร้อมนางฟ้านางสวรรค์ นำไปถวายเทียนพรรษา ไปถวายแด่พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก

จ.สุรินทร์ บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง อ.เมืองสุรินทร์ พุทธศาสนิกชน รวมทั้งประชาชนนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ร่วมกันทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง แด่พระสงฆ์บนหลังช้างแห่งเดียวในโลก มีพระสงฆ์ 72 รูป นั่งรับบิณฑบาตบนหลังช้าง 39 เชือก โดยมี นายพิจิตร บุญทัน ผวจ.สุรินทร์ เป็นประธานในพิธี พร้อมข้าราชการ ประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมพิธีและตักบาตรบนหลังช้างเป็นจำนวนมาก