แม้จะเป็นช่วงวันหยุดติดต่อกัน 3 วัน เพราะตรงกับห้วงเวลาสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ อาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา แต่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ยังไม่หยุดนิ่ง มีประเด็นที่ต้องติดตาม เริ่มตั้งแต่ 08.00 น. รายการ “คุยกับเศรษฐา” ตอนพิเศษ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และ ททบ.5 โดยถือเป็นเทปที่สอง ซึ่งในรายการ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี จะมาบอกเล่าถึงการจัดทำ 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติในนามรัฐบาล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งทั้ง 10 โครงการ ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้อยู่ดีมีสุข 

โดยสัปดาห์นี้ หัวหน้ารัฐบาลไม่มีกำหนดการในการลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพราะมีภารกิจสำคัญที่ต้องเข้าร่วม คงต้องรอดูในช่วงดังกล่าว จะมีโอกาสตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนหรือไม่ โดยเฉพาะมีปมร้อนหลายประเด็น ทั้งเรื่องที่นายกฯ เตรียมแถลงถึงรายละเอียด โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 24 ก.ค. ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาลจะมีงบกลางในการแก้ปัญหาด้านอื่นหรือไม่ รวมทั้งการจับเขาคุยกับ “นายอนุทิน ชาญวีรกุล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะส่งผลทำให้การตัดสินใจนำ “กัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติด ต้องชะลอไปหรือไม่ เพราะพรรค ภท. สนับสนุนให้ออกกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชง กัญชา มาควบคุม

ส่วนเรื่องร้อนที่ต้องติดตามต่อมา หนีไม่พ้นการประชุมวุฒิสภาวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งวาระสำคัญคือ การเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ซึ่งมาถึงวันนี้แทบทุกฝ่ายยอมรับแล้วว่า เก้าอี้ประธานและรองประธานฯ คนที่หนึ่ง คงตกอยู่ในการครอบครองของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) สายสีน้ำเงิน ซึ่งคุมเสียงไว้มากกว่า 140 เสียง ส่วนตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง อยู่ที่ “สายสีน้ำเงิน” จะยอมปล่อยให้กลุ่มอื่นๆ เข้ามาแชร์อำนาจในสภาสูงหรือไม่ โดยตัวเต็งประมุขวุฒิสภามี 2 คน คือ “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว.กลุ่ม 1 กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กับ “นายมงคล สุระสัจจะ” สว.กลุ่ม 1 เช่นเดียวกัน

โดย “พล.อ.เกรียงไกร” เป็นนายทหาร จปร.33 รุ่นเดียวกับ “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อดีต ผบ.ทบ. และมีความใกล้ชิด สนิทสนมกับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค ภท. โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 66 ก่อนลาออกไปลงชิงเก้าอี้ สว. ส่วน “นายมงคล สุระสัจจะ” เป็นนักปกครอง ลูกหม้อกระทรวงมหาดไทย เคยเป็นผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ หลังเกษียณแล้วไปใช้ชีวิตอยู่ที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นสายตรงบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ซึ่งทั้งสองถือเป็น สว.สายสีน้ำเงิน ซึ่งรายงานล่าสุดมีแนวโน้มว่า “นายมงคล” จะได้รับการผลักดันให้เป็น “ประธานวุฒิสภา” ด้วยภาพลักษณ์นักปกครอง สามารถทำงานรวมกับคนหมู่มากได้ บุคลิกประนีประนอม จึงได้รับการผลักดันจากเจ้าของค่ายสีน้ำเงิน ส่วน “บิ๊กเกรียง” คงได้รับการผลักดันให้ทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งตรงกับภาระหน้าที่ที่เคยทำมา

ส่วน สว.กลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มอิสระ” หรือ “กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่” หากจะหวังช่วงชิงตำแหน่สำคัญ คงคงสู้ได้เพียงแค่ตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง โดย “กลุ่มอิสระ” หวังผลักดัน “นายบุญส่ง น้อยโสภณ” ชิงตำแหน่ง เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นอดีตผู้พิพากษา เคยอยู่ในตำแหน่งฝ่ายบริหารของศาล เช่น อดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ ภาค 7 และยังเป็น อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงถือว่ามีความรู้ มีประสบการณ์ทางด้านกฎหมายสูง อีกทั้งที่ผ่านมาห้าปี ก็ทำงานเป็นที่ปรึกษาของ “นายศุภชัย สมเจริญ” อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง มาตลอด จึงทำให้รู้ระบบงานวุฒิสภาเป็นอย่างดี

ส่วน “กลุ่ม สว.สายพันธ์ุใหม่” ซึ่งมี “นางนันทนา นันทวโรภาส” เป็นแกนนำ แม้จะยังไม่เปิดเผยว่าจะสนับสนุนใครลงชิงตำแหน่งสำคัญ แต่ก่อนหน้าออกมาเปิดท่าทีว่า สภาสูงควรเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีบทบาทในตำแหน่งสำคัญ จึงเชื่อทางกลุ่ม คงจะส่ง “นางนันทนา” หรือ “นางอังคณา นีละไพจิตร” ลงชิงตำแหน่ง แต่ด้วยจุดยืนและท่าที่แสดงออกมา อีกทั้งถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับเครือข่ายสีส้ม เชื่อว่า ถ้ากลุ่มสีน้ำเงิน จะยอมเปิดทางให้ สว.สายอื่นเข้าแชร์อำนาจ น่าจะยกมือให้นายบุญส่ง น้อยโสภณ

ส่วน พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือ “หมอเกศ” สว.ป้ายแดงที่ได้คะแนนสูงสุด แต่มีปมร้อนถูกร้องให้ตรวจสอบในหลายประเด็น จากที่ใช้คำนำหน้า ศาสตราจารย์ หรือมีสถานะเป็น ดร. ที่จบจากต่างประเทศ และจากกรณีกรอกประวัติตอนสมัคร สว. ระบุเป็น “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม” โดยที่ประชุมกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ได้หยิบยกประเด็นคุณสมบัติ “หมอเกศ” ที่กรอกประวัติตัวเองเป็น “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม” ขึ้นมาพิจารณา และมีมติให้สอบจริยธรรม คงต้องรอดูบทสรุปจะเป็นอย่างไร

ขณะที่ปมร้อนเรื่องสุดท้าย คือท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล ที่ออกมาต่อต้านการล้างผิดมาตรา 112 โดย “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” รอง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาแถลงว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เกี่ยวกับจุดยืนของพรรคต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งพรรคมีมติคัดค้านการรวมคดี 112 ร่วมอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากการกระทำดังกล่าว จะเป็นการฝ่าฝืนบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่ 3/2567 

“การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้ผู้กระทำผิดใน มาตรา 112 เป็นการออกกฎหมายที่มีความร้ายแรงมากกว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ด้วยซ้ำ เราจึงคัดค้านไม่เห็นด้วย และ พล.อ.ประวิตร ก็มีนโยบายชัดเจนที่จะปกป้องสถาบัน จึงต้องมาบอกให้ชัดเจนว่าพรรค พปชร. ขอคัดค้านเรื่องนี้และท่านยังกำชับว่าหากมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา ในวาระ 1 ไม่ว่าจะกี่ฉบับ สส.พรรค พปชร. ทุกคน จะลงมติไม่เห็นด้วยทุกฉบับ เพื่อให้ร่างกฎหมายที่จะมีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ตกไปตั้งแต่วาระ 1” นายไพบูลย์ กล่าว

เช่นเดียวกับพรรค ภท. หลัง “นายประดิษฐ์ สังขจาย” สส.พระนครศรีอยุธยา พรรค ภท. และคณะ แถลงจุดยืนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กรณีไม่เห็นด้วยในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ผู้กระทำความผิด ละเมิดองค์สถาบันพระมหากษัตริย์ ว่า ตนและพรรค ภท. ไม่เห็นด้วยในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่กระทำความผิดตาม มาตรา 110 และมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 1 หมวด 1 ซึ่งมีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท รวมทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าวเป็นจุดยืน และคำประกาศอุดมการณ์ของพรรค ภท. การเข้าบังคับของพรรค ที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา และพรรคยังยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยตัวอย่างยิ่ง ที่จะตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรา 110 และ 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมาแถลงแสดงจุดยืนของพรรค 

ด้าน “นายคารม พลพรกลาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ในสัดส่วนพรรค ภท. เปิดเผยว่า หากนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 หรือ 112 มาอยู่ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรม จะทำให้ร่างกฎหมายนี้เป็นโมฆะ เพราะขัดกับ รธน. ตามมาตรา 5 ค่อนข้างแน่นอน และจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งด้วย

“ส่วนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 110 หรือมาตรา 112 ควรต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีเจตนากระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์ โดยให้เขาได้รับสิทธิการประกันตัว และหากสุดท้ายผลของคดีเป็นอย่างไร บุคคลดังกล่าวยังมีสิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระองค์โดยแท้” นายคารม กล่าว

ก่อนหน้านั้น “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถลงภายหลังการประชุม กมธ. เพื่อสรุปแนวทางในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ถือว่าเกือบจะได้ข้อยุติทั้งหมดแล้ว

สรุปดังนี้
1.ควรมีการนิรโทษกรรมการกระทำหรือมูลเหตุจูงใจทางการเมืองชัดเจน ตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน เรามีบทนิยามชัดเจนแล้วว่ามีความผิดอะไรบ้างที่เข้าข่ายจะได้รับการนิรโทษฯ และเรามีมติเอกฉันท์ไม่มีอะไรขัดข้อง 2.กมธ.มีมติเกี่ยวกับความผิดต่อชีวิต หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น ตามมาตรา 288 มาตรา 289 จะไม่รวมในการได้รับการนิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นการประทุษร้ายต่อชีวิต ทำให้ถึงแก่ชีวิต ไม่ใช่การกระทำความผิดต่อรัฐฝ่ายเดียว

ประธาน กมธ.นิรโทษกรรม กล่าวต่อว่า 3.ความผิดที่เกี่ยวกับ มาตรา 110 และ มาตรา 112 ทางคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่ตั้งขึ้นมา มีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความผิดที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และทาง กมธ. เห็นว่า การทำงานของเราเป็นเพียงการศึกษาหาแนวทางการตรากฎหมาย จึงมีมติร่วมกันที่จะไม่โหวตให้มีผู้ชนะ หรือแพ้ โดยมีข้อสรุปให้ส่งความเห็น แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภท คือ 1.ไม่เห็นด้วยให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา 110 และมาตรา 112  2.เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา 110 และมาตรา 112 โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และ 3.เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีตามมาตรา 110 และมาตรา 112 แต่ต้องมีมาตรการ มีเงื่อนไข เช่น ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา มีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ความเห็นของทั้ง 3 กลุ่มประเภท จะได้บรรจุลงไปในรายงานด้วย ซึ่งในการประชุม กมธ. สัปดาห์หน้า จะพิจารณาสรุปรายงานอีกครั้ง คาดว่าจะส่งรายงานให้สภาฯทันภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้ นั่นหมายความว่า กมธ.นิรโทษกรรม ที่มีสมาชิกพรรค พท. เป็นประธาน เปิดช่องให้มีการล้างความผิดมาตรา 112 และมาตรา 110 ได้ ซึ่งสวนทางกับท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล ต้องรอดูว่า ปมร้อนจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นหรือไม่

“ทีมข่าวการเมือง”