จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลรวม 3 ราย คือ 1.นายสมโภชน์ อาหุนัย 2.นายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) และ 3.นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และหรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด เมื่อปี 2556-2558 ต่อเนื่องกัน เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 ราย ได้รับผลประโยชน์ รวม 3,465.64 ล้านบาท การกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อสำนักงาน ปปง. อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ก.ค. ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ภายหลังจากดีเอสไอได้รับหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระบวนการลำดับแรก คือ กองบริหารคดีพิเศษ ได้มีการรับเรื่องราวและประมวลเรื่องทั้งหมด ก่อนส่งเรื่องไปยังกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งตามพฤติการณ์ที่ ก.ล.ต. ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงถือเป็นความผิดท้าย พ.ร.บ.ฯ ของดีเอสไอ อีกทั้งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 3,465 ล้านบาท จึงอยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อนุมัติรับเป็นคดีพิเศษได้ ตนในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ จึงมีคำสั่งอนุมัติเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว เพราะในหนังสือที่ ก.ล.ต. ร้องทุกข์กล่าวโทษพฤติการณ์มาให้ ค่อนข้างชัดเจน และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ตนจะไปออกเลขคดีพิเศษให้เป็นไปตามขั้นตอนการธุรการทางคดี จากนั้นจึงจะตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดี เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป

พ.ต.ต.ยุทธนา เผยว่า ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ หากดูตามคำกล่าวหาของ ก.ล.ต. หากมีประเด็นที่ดีเอสไอจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม หรือสงสัย ก็จะต้องเชิญผู้แทนจาก ก.ล.ต. มาให้ข้อมูล และจะนัดหมายตามวันเวลาที่ ก.ล.ต. สะดวก เพื่อให้มายืนยันคำกล่าวหาด้วย ส่วนเรื่องยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ก่อน เพื่อป้องกับการยักย้าย ถ่ายเท ระหว่างสืบสวนคดีนั้น ทราบว่า ก.ล.ต. ได้มีการประสานกับสำนักงาน ปปง. ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนของดีเอสไอ เมื่อรับเรื่องไว้และเล็งเห็นว่าเป็นความผิดในคดีมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ดีเอสไอก็จะต้องแจ้งไปยัง ปปง. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เช่นกัน ซึ่งทาง ปปง. จะต้องพิจารณาดูว่าหากข้อกล่าวหาของ ก.ล.ต. เป็นความผิดมูลฐาน ปปง. ก็จะพิจารณาได้เลย

ส่วนแผนประทุษกรรมของ 3 ผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด มหาชน (EA) ตามที่ ก.ล.ต. ร้องทุกข์กล่าวโทษมายังดีเอสไอ แต่ละรายทุจริตหรือดำเนินการอย่างไรบ้างนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา เผยว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตอบในส่วนนี้ แต่ในชั้นของดีเอสไอเราดูแค่เพียงว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ส่วนหลักการพิสูจน์ความผิดตามข้อกล่าวหาจะต้องรอให้มีการสอบสวนก่อน ซึ่งภายหลังจากที่เราได้ข้อมูลจาก ก.ล.ต. แล้ว จึงจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่ของบริษัท EA มาสอบถาม เพื่อเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด

เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ หากระหว่างที่ดีเอสไอดำเนินการสืบสวนสอบสวนผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษทั้ง 3 ราย อาจมีพฤติกรรมความเคลื่อนไหว หรืออาจเดินทางออกนอกราชอาณาจักรนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา ยืนยันว่า ไม่มีความกังวลใจ เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีอาญาประเภทนี้อยู่แล้ว ส่วนความแตกต่างในคดีทุจริตบริษัท EA จะมีความยากหรือง่าย หรือมีความคล้ายกันกับคดีโกงหุ้นสตาร์คหรือไม่นั้น ต้องเรียนว่าคดีทั้งสองมีความคล้ายกันแต่ไม่เหมือนไปทั้งหมด ส่วนความยากง่ายของการทำคดีคงต้องดูที่รายละเอียด

ต่อข้อถามว่า ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์ว่าอาจจะมีการส่งหนังสือเทียบเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในเรื่องตลาดทุนไทยเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในคดีกับดีเอสไอนั้น ในส่วนนี้ได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนา แจงว่า อาจจะมีการแต่งตั้งในโอกาสต่อไป เพราะดีเอสไอไม่ได้มีการปิดกั้น หากเล็งเห็นว่าจะเป็นการทำให้ส่วนใดของการดำเนินคดีมีความประจักษ์ขึ้น เราก็ยินดีรับฟัง อีกทั้งกฎหมายของดีเอสไอได้เปิดโอกาสให้มีการตั้งที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นได้อยู่แล้ว ส่วนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานใดนั้น คณะพนักงานสอบสวนกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน จะใช้ดุลพินิจพิจารณาอีกครั้ง.