เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสริมพลังเครือข่ายชุมชนในการแก้ไขปัญหาการใช้ยาเสพติดในชุมชนพื้นที่ กทม. ตามโครงการเสริมพลังชุมชนในการดูแลแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยมี แพทย์หญิงภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผอ.สำนักอนามัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ ห้อง Rainbow Hall ชั้น 17 โรงแรมใบหยกสกาย เขตราชเทวี 


ทั้งนี้ การดูแลผู้มีปัญหายาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐานหรือเป็นศูนย์กลาง (Community-Based Treatment: CBTx) เน้นที่การมีส่วนร่วมของชุมชน และความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกฝ่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหายาเสพติดได้ ซึ่งกทม.และหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้พยายามปรับกลยุทธ์ มาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้ได้มากที่สุด 


โดยการส่งเสริมให้เกิดการจัดระเบียบชุมชน การแสวงหาข้อเท็จจริงในชุมชน และการทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งผู้ที่มีบทบาทหลักในการทำงานคือชุมชน ในขณะที่หน่วยงานรัฐและหน่วยงานภาคีเครือข่าย มีบทบาทในการส่งเสริมศักยภาพในชุมชนให้เข้มแข็งในฐานะผู้สนับสนุน รวมทั้งชุมชนต้องตระหนักในปัญหายาเสพติด และมีความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน สร้างเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนของตนเอง สามารถผนึกกำลังเป็นเครือข่ายชุมชนระดับอื่น ๆ 


กทม. โดยสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย ได้เห็นถึงความสำคัญของเครือข่ายชุมชนในการดูแลผู้มีปัญหายาเสพติดในพื้นที่ กทม. โดยใช้ชุมชนเป็นฐานหรือเป็นศูนย์กลาง จึงได้จัดกิจกรรมเสริมพลังเครือข่ายชุมชนในการแก้ไขปัญหาการใช้ยาเสพติดในชุมชนพื้นที่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ผู้แทนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ผู้แทนเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานเขต ผู้แทนศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส.กทม. ผู้แทนสำนักพัฒนาสังคม ผู้ดำเนินการเสริมพลังเครือข่าย เจ้าหน้าที่ดำเนินการและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 365 คน  โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน การฟื้นฟูสภาพทางสังคม และการสร้างผู้นำทีมงานในการให้บริการด้านสาธารณสุขในชุมชน เป็นผู้ดำเนินการเสริมพลังเครือข่ายฯ 


รองปลัด กทม. กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยเฉพาะการดูแลผู้มีปัญหายาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐานหรือเป็นศูนย์กลาง จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การตระหนักต่อปัญหายาเสพติด การสร้างเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติด และการจัดรูปองค์กรชุมชนหรือการจัดระเบียบชุมชนออกเป็นพื้นที่ย่อย กลุ่มโซน คุ้ม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการดูแลผู้มีปัญหายาเสพติดในชุมชน 


ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายความคิด เครือข่ายกิจกรรม และเครือข่ายสนับสนุนทุน โดยเครือข่ายความคิด เป็นลักษณะการสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักต่อปัญหายาเสพติด จนเกิดเป็นพลังภูมิคุ้มกันของบุคคล และนำพลังความสามารถที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ในขณะที่เครือข่ายกิจกรรม เน้นการช่วยเหลือร่วมมือกันระหว่างชุมชนและภาคีเครือข่ายในการสร้างกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในชุมชน นอกจากนี้เครือข่ายสนับสนุนทุน ที่มาจากการระดมทรัพยากรจากภายในชุมชนและจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนกิจกรรมให้เกิดการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยสนับสนุนต้นทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น งบประมาณ วัสดุ สิ่งของ รวมทั้งบริการทางสังคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 


รองปลัด กทม. กล่าวต่อไปว่า ขอให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้ความสำคัญต่อการสร้างเครือข่ายชุมชน ทั้งเครือข่ายการเรียนรู้ เครือข่ายกิจกรรม และเครือข่ายสนับสนุนทุน โดยใช้กลไกศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต และกลไกการดูแลช่วยเหลืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างพลังความร่วมมือของชุมชน สร้างความเข้มแข็งในการบำบัดฟื้นฟูในชุมชนพื้นที่ กทม.ได้อย่างยั่งยืน.