เมื่อวันที่ 18 ก.ค. พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณากรณี พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือ “หมอเกศ” สว.กลุ่ม 19 (กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ) กรอกประวัติเป็น “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม” ซึ่งไม่ได้เป็นความเชี่ยวชาญที่มีการรับรองโดยแพทยสภา ว่า ตามที่ข่าวปรากฏทางสื่อสารมวลชน กรณีมีการระบุเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงามนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา จึงได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาตรวจสอบ แล้วมีมติให้ฝ่ายจริยธรรมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาประกอบการพิจารณา เช่น ขอเอกสารจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเอกสารจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอกสารจากเจ้าตัว เพื่อมาตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งหนังสือขอเอกสารนั้น ได้ส่งออกไปในวันนี้ (18 ก.ค.)

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องเรียก สว.เกศกมล เข้ามาให้ข้อมูลด้วยหรือไม่ พล.อ.ท.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ต้องขอดูข้อมูลที่ชี้แจงกลับมาก่อนว่าเพียงพอที่จะพิจารณาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้แพทยสภายังไม่มีการประสานเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด

“แพทยสภามีอำนาจตรวจสอบเฉพาะวุฒิของแพทย์เท่านั้น ส่วนวุฒิอื่นๆ ที่เป็นประเด็นนั้น เช่น วุฒิดอกเตอร์ แพทยสภาจะไม่ก้าวล่วง เป็นเรื่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนั้นที่แพทยสภาจะพิจารณาเรื่องแรก คือ ประเด็นการระบุว่า เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม ส่วนกรณีอื่นจะพิจารณาเป็นลำดับต่อไป” พล.อ.ท.นพ.อิทธพร กล่าว

เมื่อถามว่า การอ้างความเชี่ยวชาญถือเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ พล.อ.ท.นพ.อิทธพร กล่าวว่า การโฆษณาต้องดูเจตนาว่าให้คนเข้าใจผิดเพื่อผลประโยชน์หรือไม่ ตอนนี้แพทยสภายังไม่ทราบว่า การให้ประวัตินั้นมีเจตนาใด จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวก็ต้องอธิบายให้ชัดเจน

เมื่อถามย้ำว่า กรณีอ้างความเชี่ยวชาญดังกล่าวเพื่อหวังผลในด้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น เพื่อหวังผลให้ได้รับเลือกเป็น สว. ถือว่าเป็นความผิดอย่างไรหรือไม่ ต้องพิจารณาตรงนี้ด้วยหรือไม่ พล.อ.ท.นพ.อิทธพร กล่าวว่า กรณีนี้น่าสนใจ แต่ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะเหตุการณ์นี้เป็นกรณีแรก เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่เคยมี สว. ท่านใด นำไปใส่ในประวัติแล้วเกิดปัญหาเช่นนี้ เรื่องนี้ขอให้คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาตามข้อมูล ข้อเท็จจริงก่อน ส่วนระยะเวลาการพิจารณานั้นเป็นไปตามกรอบเพื่อความเป็นธรรม

“เรื่องนี้จะถูกมอบหมายให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดใดชุดหนึ่ง ที่มีอยู่ 13 ชุด ดำเนินการ โดยแพทยสภาจะนำเข้าในชุดที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน อาทิ คณะกรรมการที่มาจากมหาวิทยาลัยที่คุณหมอจบการศึกษามา แพทยสภาขอยืนยันว่า การตั้งเรื่องสอบจริยธรรมเป็นไปตามมติกรรมการแพทยสภา มีขั้นตอนและมาตรฐานตามกฎหมายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ก่อนมีมติตัดสินใด ๆ ด้วยความเป็นธรรม โดยไม่มีข้อยกเว้น” เลขาธิการแพทยสภา กล่าว.