เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ศาลนัดฟังคำสั่งในคดีที่ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีต ผช.ผบ.ตร. นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง น.ส.ณัฐนันท์ ทองดี ทั้ง 3 ในฐานะอดีตผู้สมัคร สว.ฟ้องผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับเทศ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลฎีกาเพื่อให้เพิกถอนการประกาศของ กกต. รับรอง สว. 200 คนและขอให้ศาล สั่งให้มีการเปิดหีบบัตรนับคะแนนใหม่เพื่อตรวจสอบการเชื่อมโยงของโพยกับบัตรลงคะแนน และพิจารณาตัดสิทธิผู้ที่ได้คะแนนลำดับสูงและผู้ที่ได้คะแนนมาโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจคำฟ้องแล้ว คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องโดยสรุปว่าโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องคัดค้านต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 เกี่ยวกับการเลือก สว.ว่าไม่โปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะมีการรวมกลุ่มกันของผู้สมัครบางคนและบางกลุ่ม เพื่อให้มีการลงคะแนแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ในลักษณะฮั้วกัน โดยมีผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าว ซึ่งหากศาลฎีกาสั่งให้มีการเปิดหีบเลือกตั้งและนับคะแนนใหม่โดยใช้ระบบเครื่องมือกลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ทราบถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว และมีคำขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนประกาศผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ เรื่อง ผลการนับคะแนนในการลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันลงวันที่ 27 มิ.ย. 2567 ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือก สว. ลงวันที่ 10 ก.ค. 2567 และเพิกถอนสิทธิผู้สมัครรับเลือกซึ่งได้คะแนนในลำดับที่ 1-6 ทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มที่ 14 นั้น

เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กับนายประหยัด เสนวิรัช เคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาอ้างว่า การเลือก สว.ไม่โปร่งใสและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะมีการรวมกลุ่มกันของผู้สมัครบางคนและบางกลุ่มเพื่อให้มีการลงคะแนนแก่ผู้หนึ่งผู้ใดในลักษณะฮั้วกันโดยมีผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังกระทำการดังกล่าว ซึ่งหากศาลฎีกาสั่งให้มีการเปิดหีบและนับคะแนนใหม่โดยใช้ระบบเครื่องมือกลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ทราบถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวและมีคำขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งชะลอการประกาศรับรองผู้สมัครที่ได้รับเลือกทุกกลุ่มไว้ก่อน และให้จำเลยที่ 2 ทำการนับคะแนนใหม่โดยใช้เครื่องมือกลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโดยเห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ไม่เข้ากรณีที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 44 เมื่อศาลฎีกา มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 กับพวก เนื่องจากไม่มีอำนาจเสนอคดีต่อศาลฎีกาได้โดยตรงแล้วดังกล่าว การที่โจทก์ที่ 1 ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ต่อศาลฎีกาโดยยกข้ออ้างเช่นเดียวกับคำฟ้องในคดีเดิมซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาและวินิจฉัย คดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือก การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก และการเพิกถอนสิทธิสมัคร รับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ข้อ 5 วรรรคสอง

โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แม้จะไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แต่เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 แล้ว หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นอันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ย่อมเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น อันมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นลง หรือหากความปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเพื่อวินิจฉัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 62, 63 แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ผู้สมัครหรือผู้ใดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้โดยตรงเพื่อให้มีคำสั่งตามที่โจทก์ที่ 2, 3 มีคำขอ โจทก์ที่ 2, 3 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำฟ้องต่อศาลฎีกา

ส่วนที่โจทก์ที่ 2, 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินตามคำร้องเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเสร็จสิ้นมาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ต้องสั่งคำร้องดังกล่าวอีกจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง