เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานอนุ กมธ. ซึ่งมีวาระการพิจารณาความเห็นและสาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยได้เชิญนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ตัวแทนนักวิชาการ สภาทนายความ และตัวแทนผู้ได้รับความเดือดร้อนแต่ละจังหวัดมาให้ข้อมูล

ในช่วงต้นการประชุม นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวขอบคุณอธิบดีกรมประมงที่จัดแถลงข่าวเมื่อวานนี้ ก่อนที่อธิบดีกรมประมงจะกล่าวกลางที่ประชุมว่า ตนเป็นข้าราชการ ควรจะตอบแก่สาธารณชน จึงได้แถลงข่าวไป วันนี้แม้ไม่ได้เตรียมเอกสาร แต่ยินดีให้ความร่วมมือกับประชาชนเต็มที่ พร้อมเล่าถึงประวัติของปลาหมอคางดำ ว่าเป็นตระกูลเดียวกันกับปลาหมอเทศและปลานิล อาศัยอยู่ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน ทนความเค็มและออกซิเจนต่ำ ที่สำคัญวางไข่ทุก 22 วัน โดยตัวผู้เป็นผู้อมไข่

“ถามว่าเขารุกรานอย่างไร ในเมื่อเหมือนปลานิลและปลาหมอเทศ ความรุกรานของเขาคือกินทั้งพืชและสัตว์ กุ้ง ลูกหอย แต่จากการผ่าองค์ประกอบอาหารในกระเพาะเขา พบว่าร้อยละ 94 เป็นพืช ที่เหลือเป็นลูกสัตว์ ซึ่งรุกรานไปทั่วยุโรป อเมริกา และหลายพื้นที่ของเราในตอนนี้ เดิม 14 จังหวัด ตอนนี้ 16 จังหวัด” อธิบดีกรมประมง กล่าว

ทำให้ นพ.วาโย ขอตัดบทว่า ตนขอเสียมารยาท แต่ข้อมูลนี้ เราพิจารณาถึง 5 ครั้งแล้ว ดังนั้น ขอตั้งเป็นคำถามแล้วกัน เพราะกรมประมงก็มอบหมายให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาชี้แจงแล้วส่วนหนึ่ง ตนคิดว่าไม่ให้เสียเวลา ก่อนจะเข้าสู่คำถามว่า สรุปแล้วปลาหมอคางดำมันเทคไฟลต์บินมาจากที่ไหน หรือใครเอาเข้ามา ตนคิดว่าจากระเบียบวิธีการวิจัย น่าจะหาต้นตอได้โดยการตรวจรหัสทางพันธุกรรม ซึ่งรายงานการวิจัยโดยกรมประมงที่ตีพิมพ์ช่วงปี 2565 มีชื่อว่า การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำตามพื้นที่ชายฝั่งของไทย จากโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากร พบว่าความใกล้ชิดกันของพันธุกรรมปลา มีความใกล้ชิดกันสูงมาก มาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่กี่คู่ จึงอยากให้ขยายความ เพื่องานวิจัยนี้ที่กรมประมงเป็นคนทำเองด้วยซ้ำ

“แสดงว่าเรามีตัวอย่าง และ DNA ปลาที่ระบาดในประเทศไทยแล้ว ถ้าเราสามารถจับตัวตั้งต้นได้ อาจจะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่กี่คู่นี่แหละ แล้วโป๊ะเชะกัน เป็นสายพันธุ์เดียวกัน ก็น่าจะคลายความสงสัยและหาตัวผู้กระทำผิดได้ ตัวอย่างปลาที่เป็นขวดโหล 25 ตัว ที่ทางบริษัทซีพีเอฟแถลงข่าวมาว่า ได้มอบให้ทางกรมประมงไปแล้ว แต่ทางอธิบดีก็ยืนยันว่าไม่มีสมุดคุม ต้นขั้ว แต่ท่านรองฯ ท่านมารายงานว่าน้ำท่วมไปหรือไม่ ปี 2554 เดี๋ยวเราจะต้องขออนุญาตท่านไว้ก่อนว่า เราอยากไปเยี่ยมกรมประมง ไปดูห้องเก็บตัวอย่างหน่อย ว่าอยู่ชั้น 1 หรือ ชั้น 2 แล้วน้ำท่วม ท่วมถึงระดับไหน จากรายงานของชาวบ้านรู้สึกจะประมาณเข่ามั้ง จึงอยากไปดูว่าท่านเก็บไว้ที่พื้นหรือวางไว้บนชั้น มีกี่ชั้น แล้วน้ำสามารถพัดพาตัวอย่างนี้ไปได้หรือไม่ ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย” นพ.วาโย กล่าว

นพ.วาโย กล่าวอีกว่า ตนได้รับรายงานอีกว่าบันทึกการประชุมของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ของกรมประมงเอง ว่า ณ วันนั้นมีมติของที่ประชุมอนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากเป็นเรื่องเดิมที่เคยขออนุญาตแล้ว ภายใต้เงื่อนไขเดิม

“สรุปว่ากรมประมงให้บริษัทซีพีเอฟ สามารถนำเข้าปลาหมอคางดำได้ ภายใต้เงื่อนไข ให้กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบโดยไม่ทำให้ปลาตายอย่างน้อย 3 ตัว ไม่มีทั้งตัวก็ได้ ผมขอตัวอย่างครีบ 3 ตัว ให้ทางหลายหน่วยงานได้ตรวจ DNA ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้รับขวดโหล 2 ขวดนั้น แต่ท่านต้องมีตัวอย่างครีบที่ท่านเป็นคนเก็บเอง ณ บัดนั้นด้วย” นพ.วาโย กล่าว

นพ.วาโย ตั้งคำถามต่อว่า เมื่อวานอธิบดีระบุว่าไม่มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่ปล่อยปละละเลยได้ อยากให้ช่วยขยายความว่าไม่มีข้อกฎหมายเลยหรือไม่ และข้อสุดท้าย จะปล่อยปลาที่ตัดต่อพันธุกรรมแล้วปล่อยให้ไปผสมพันธุ์จนได้ปลาที่เป็นหมัน แต่มีงบเพียง 150,000 บาท จึงไม่แน่ใจว่ามีการเพิ่มงบแล้วหรือยัง และตอนนี้เริ่มวิจัยไปแล้วหรือยัง

ขณะที่นายณัฐชา ถามอธิบดีต่อว่า เรื่องบริษัทเอกชนที่ตอบโต้กลับมาว่ามีการส่งออกปลาพันธุ์นี้ไปยังประเทศอื่นด้วยในปี 2556-2560 จริงเท็จอย่างไร ซึ่งมีข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผย จึงอยากให้ชี้แจง เรื่องการส่งตัวอย่างในการตรวจสอบว่าปลาที่ดองไว้ในขวดโหลจะมีกระบวนการอย่างไร และตนอยากทราบว่ากรมประมงใช้งบไปเท่าไรทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงแนวทางที่ถูกต้องในการนำเข้าปลาต่างถิ่นเข้ามา และการติดตามต้องทำอย่างไร

จากนั้น อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันนี้ ที่กรมประมงมี ที่พอจะเห็นร่องรอย มีบริษัทเดียวที่ขอนำเข้า เดือน ก.ย. ปี 2553 พร้อมตอบรับคำเชิญอนุ กมธ. ไปที่กรมฯ

“กรมประมงเป็นกลุ่มโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ เชิญครับ ไปเยี่ยมกรมประมง วันไหนที่ไปก็ขอให้บอกล่วงหน้าสักอาทิตย์หนึ่งนะครับ”

อธิบดีกรมประมง ย้ำว่ากฎหมายประมงปี 2528 มีมาตรา 54 ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำมาในราชอาณาจักร ยกเว้นการลักลอบ ด้วยเหตุผลการแพร่ระบาดของโรค แต่กรมประมงก็ได้กำหนดเงื่อนไขโดยคณะกรรมการ IBC ว่าต้องเก็บตัวอย่างครีบดองในน้ำยา เพื่อส่งวิจัยชีวภาพสัตว์น้ำ สำนักวิจัยและพัฒนา กรณีไม่ทำตามจะไม่อนุญาต นี่เป็นหลักการของ IBC พอมาปี 2558 ก็ได้เห็นข้อบกพร่องของกฎหมาย จึงกำหนดไม่ให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ โดยให้รัฐมนตรีไปกำหนดในประกาศกระทรวง ในปี 2561 ปลาหมอคางดำก็อยู่ในนี้ด้วย ตนคิดว่าโทษยังไม่พอ จึงอยากขอให้ทุกคนสนับสนุนให้มีโทษทางอาญาด้วย 

ส่วนเรื่องการวิจัยปลาตัวอย่างที่จะปล่อยไปผสมพันธุ์ เพื่อให้ออกลูกเป็นหมันนั้น ยังอยู่ระหว่างการทดลอง 3 ชุด เพื่อจะให้มีความเชื่อมั่นก่อน งบที่ว่า 150,000 บาท เป็นงบแค่น้ำยา เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์อื่นๆ เรามีอยู่แล้ว

นายบัญชา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการส่งออกปลาไปที่ประเทศอื่น นักข่าวก็ถามตน ตนก็ตกใจ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ จึงตั้งทีมค้นคว้าเรื่องนี้ พบว่ามีการส่งออกปลาเมื่อปี 2556-2559 ไป 17 ประเทศ โดยมีผู้ส่งออก 11 ราย มีปลาทั้งสิ้น 230,000 ตัว แต่ปี 2561 ตอนแก้กฎกระทรวงก็ไม่มีการส่งออก ย้ำว่าอะไรที่เราเจอเราก็นำเรียนให้ทราบ

อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า วกกลับมาที่ ปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว ว่านำเข้ามาทางด่านสุวรรณภูมิ ตนได้เรียกสมุดคุมมาแล้ว ก็ไม่มี แต่บริษัทเอกชนกล่าวอ้างว่าส่งมา จึงต้องไปดูที่ต้นทาง ถ้ามีก็ขอให้นำมาเปิดเผย ตอนนี้กรมประมงใช้งบป้องกันและเฝ้าระวังไป 1.79 ล้านบาท งบโครงการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ปี 61 จำนวน 11 ล้านบาท งบวิจัย ปี 61 จำนวน 4,000,000 บาท และงบส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการของบประมาณ 181 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ 5 เรื่อง กำจัด/ปล่อยปลานักล่า/รณรงค์ให้มีการบริโภค/สำรวจและรายงาน และประชาสัมพันธ์ แต่ยังไม่เห็นชอบงบประมาณ ซึ่งตนจะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว

จากนั้น น.พ.วาโย กล่าวว่า ขอสำเนาสมุดคุมว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร จะได้คลายความสงสัย พร้อมย้ำถึงการเก็บตัวอย่างครีบ ว่าในรายละเอียด ให้กรมประมงเป็นผู้เก็บตัวอย่าง โดยไม่ทำให้ปลาตาย ตอนที่นำเข้าปลา ตรงนี้มีการเก็บหรือไม่ ตัวอย่างอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีการเก็บ จะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ท่านอนุญาตแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้กระทำตามเงื่อนไขครบทุกข้อแล้ว ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบทุกข้อ หมายความว่าไม่สมบูรณ์และอาจจะไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่

“สังคมกำลังตั้งคำถามว่าปลาที่มันหลุดอยู่ในประเทศไทย ไม่รู้ว่ามันซื้อตั๋วมาเองหรือไม่ มันหลุดมาจากงานวิจัยชิ้นนี้หรือไม่ ถ้าหลุดมาจริง ก็อาจจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 55 มีโทษจำคุกเช่นเดียวกัน” นพ.วาโย กล่าว

อธิบดีกรมประมง จึงกล่าวว่า ขอกลับไปดู ตนเองก็พยายามหากฎหมายว่ามีช่องใดไปถึงบ้าง ตนอาจจะไม่รู้กฎหมายลึก ยอมรับว่า จริงๆ เป็นหน้าที่ราชการ จะอ้างก็ไม่ได้นั่นแหละ ย่อมมีผู้รับผิดชอบ มี 2 ความรับผิดชอบ คือรับผิดชอบทางกฎหมาย รับผิดชอบต่อสังคม ส่วนกฎหมายไปถึงหรือไม่ ตนก็พยายามอธิบาย โดยเฉพาะสภาทรงเกียรติแห่งนี้

ทำให้ นพ.วาโย ทวงคำถามว่า “แล้วครีบปลาผมล่ะครับ” มติ IBC ที่เป็นผู้อนุญาต ระบุว่าให้กรมประมงเก็บครีบปลา 3 ชิ้น อธิบดีกรมประมง จึงกล่าวว่า ความหมายคือเอกชนต้องเป็นคนตัดและส่งครีบมาให้กรมประมง เพื่อเอาไว้ตรวจสอบ “เอกชนไม่ได้ตัดส่ง จึงเป็นที่มา” และขอกลับไปตรวจสอบอีกครั้ง

อธิบดีกรมประมง กล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า “ระบบการส่งออกสัตว์น้ำ เรามีระบบ ถ้าเป็นสัตว์น้ำเป็นสัตว์ควบคุม เช่น สัตว์อยู่ในบัญชี สัตว์คุ้มครอง การจะส่งออกต้องมีที่มา เช่น จระเข้กรณีมีชีวิต ต้องมาขอใบรับรองจากกรมอนามัยว่าปลอดโรค และไปยื่นที่ด่าน ขอส่งไปปลายทางตามที่ประเทศนั้น ต้องรับรองโรค แต่ปลาหมอคางดำ มีประกาศห้ามไม่ให้ส่งออกปี 2561 ปี 2556-2559 ไม่ใช่เป็นสัตว์คุ้มครอง เขาก็เอาจากแหล่งธรรมชาติที่รุกรานอยู่ ต้องไปดูว่าแพร่กระจายเมื่อไร ผมก็ไม่สามารถตอบได้ว่าเขาเอามาจากไหน แต่ก็เห็นได้ว่าเมื่อมันชุกชุมจากธรรมชาติ เขาก็ไปเก็บจากธรรมชาติ”.