ท่ามกลางกระแสรักษ์โลกและมุ่งสู่พลังงานสะอาด เพื่อปรับตัวให้เท่าทันวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ‘แท็กซี่ไทย’ กำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ด้วยการหันมาใช้รถแท็กซี่ไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehicle) ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% แทนการใช้รถเครื่องยนต์สันดาปอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นำมาโดยปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบการของผู้ให้บริการแท็กซี่เป็นอย่างมาก, นโยบายส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าของภาครัฐ ที่ออกมาในหลายรูปแบบ เช่น การลดภาษีสรรพสามิต การอุดหนุนจากรัฐ และการสนับสนุนสถานีชาร์จ, การตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังที่ตลาดแท็กซี่ไฟฟ้า (BEV) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 นี้ คาดว่าส่วนแบ่งตลาดอาจสามารถพุ่งแตะ 49% ของยอดจดทะเบียนแท็กซี่ใหม่ทั้งตลาด และคาดว่าจะมีมากถึง 3,300 คัน

ในทางกลับกัน ด้านของ แท็กซี่ NGV มีการคาดการณ์ว่าส่วนแบ่งตลาดอาจลดเหลือ 15% เนื่องจากปัญหาต้นทุนที่สูงกว่า ทั้งยังมีจุดให้บริการเติมจำนวนน้อย ขณะที่ แท็กซี่ LPG แม้ราคาแก๊สเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน แต่จุดให้บริการเติมมีจำนวนมาก ทำให้ยังเป็นหนึ่งในทางเลือกของแท็กซี่กลุ่มที่ยังไม่พร้อมหรือกังวลเรื่องเทคโนโลยีใหม่

ปัจจุบัน ปริมาณแท็กซี่สะสมในกรุงเทพมหานครทยอยลดลง หลังการมาของโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ทำให้ผู้คนเดินทางสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พบว่าปริมาณแท็กซี่ไฟฟ้าบนท้องถนนนั้นเร่งขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้จะยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งตลาด (ยอดจดทะเบียนแท็กซี่ไฟฟ้า สะสมอยู่ที่ 1,211 คัน ณ 30 มิถุนายน 2567 จากทั้งตลาดที่มีอยู่ 75,184 คัน)

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2567 นี้ การซื้อแท็กซี่ใหม่เพื่อทดแทนคันเก่าที่หมดอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นแท็กซี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 49% ประกอบกับแท็กซี่ป้ายแดงที่คาดว่าจะมีทั้งหมดราว 3,300 คัน ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของ แท็กซี่ ที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนรูปแบบอื่น อย่าง น้ำมัน แก๊ส LPG และแก๊ส NGV รวมกัน ลดเหลือเพียง 51% จากเดิมอยู่ที่ 86% ในปี 2566

สำหรับสาเหตุหลักๆ ที่แท็กซี่ไฟฟ้าเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้น คาดว่ามาจากต้นทุนด้านทั้งฝั่งคนขับและฝั่งผู้ประกอบการให้เช่าถูกลงกว่าการใช้แท็กซี่ที่เป็นพลังงานในรูปแบบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีแท็กซี่ส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะมีต้นทุนต่อวันในราคาที่ต่ำ เนื่องจากสามารถชาร์จไฟจากที่พักอาศัยได้เลยในระดับเดียวกับค่าไฟบ้าน

นอกเหนือจากเรื่องของต้นทุนแล้ว ความสะดวกในการหาจุดให้บริการเติมแก๊สก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ หลังมีสัญญาณการทยอยปิดตัวลงของปั๊มแก๊ส จากการที่ราคาแก๊สทั้ง NGV และ LPG ปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมาของแท็กซี่ไฟฟ้า ทว่าก็มีผลทำให้แท็กซี่กลุ่มพลังงานอื่น โดยเฉพาะ NGV มีโอกาสในการเติบโตน้อยลงในอนาคต ในทางกลับกัน ด้านแท็กซี่ไฟฟ้า แม้ราคาชาร์จไฟจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนสถานีชาร์จก็มีการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความกังวลด้านความสะดวกในการหาจุดบริการชาร์จมีแนวโน้มลดลง

หากมองตามภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า การซื้อแท็กซี่ไฟฟ้ามีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกที่เหนือกว่า แท็กซี่กลุ่มอื่น โดยเฉพาะแท็กซี่ NGV ที่การซื้อเพิ่มมีโอกาสลดลง ทำให้ส่วนแบ่งตลาดในอนาคตคาดว่าจะลดลงกว่าเดิม จากปีนี้ที่มีอยู่เพียง 15% (ปี 2566 แท็กซี่ NGV มีส่วนแบ่งตลาดที่ 31%) ทั้งยังมีปัญหาราคาแก๊ส NGV ที่อาจถูกปล่อยให้ลอยตัวในอนาคตและปริมาณจุดให้บริการเติมแก๊สที่อาจลดลงไปด้วยอีกเช่นกัน

ในอนาคตจึงอาจเหลือเพียง แท็กซี่ LPG ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจได้ไปต่อ แม้ต้นทุนราคาจะสูงกว่าแท็กซี่ไฟฟ้า แต่การหาจุดให้บริการของ LPG นั้น ยังถือว่ามีความสะดวก เมื่อเทียบกับ NGV ซึ่งก็จะเหมาะกับผู้ประกอบการ แท็กซี่ที่ยังไม่มั่นใจหรือพร้อมกับการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี BEV

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของแท็กซี่ไฟฟ้าจะเดินหน้าต่อได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีชาร์จสาธารณะ การจัดหาอะไหล่ และการซ่อมบำรุง ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้ โดยเฉพาะกลุ่มคนขับแท็กซี่แบบเช่า ที่ไม่ต้องการให้มีอุปสรรคต่อการหารายได้ประจำวัน

ขอบคุณข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย