จากกรณีการหาทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีความเห็นทำนองว่า ภาครัฐจะใช้วิธีการปล่อยปลานักล่า “ปลากะพงขาว” ลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นางสมจิตร ดีชู หรือ “ป้าจิตร” อายุ 74 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช หลังจากออกตามล่า “ปลาหมอคางดำ” มาแปรรูปทำอาหารขาย เปิดเผยว่า หากทางรัฐบาลหรือกรมประมง ปล่อยปลากะพงขาวหรือปลานักล่าลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้กินปลาหมอคางดำหวังให้ปลาหมอคางดำมีจำนวนลดน้อยลง เชื่อว่าหากตนหรือชาวบ้านทุกคนที่มีอาชีพจับปลามาบริโภคหรือจำหน่าย สามารถจับปลากะพงขาวหรือปลานักล่าที่กรมประมงหรือรัฐบาลปล่อย เราจะไม่ปล่อยคืนกลับแหล่งน้ำอย่างแน่นอน เพราะปลากะพงขาวที่จับได้มีราคาสูงกว่าปลาหมอคางดำมากหลายเท่า

ที่ผ่านมาตนจับ “ปลาหมอคางดำ” แล้วจะพบว่า มีพฤติกรรมที่แตกต่างจากปลาในท้องถิ่นชนิดอื่น ๆ อย่างชัดเจนโดยเฉพาะการปกป้องไข่และลูกเล็ก ๆ ของพวกมัน โดยเมื่อมันรู้ว่ามีศัตรูมันจะมีการอมไข่ และลูกตัวเล็ก ๆ ไว้ในปากเพื่อปกป้องไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของศัตรู แต่หลายครั้งที่ตนและครอบครัววางอวนติดปลาหมอคางดำ ปรากฏว่ามันกลับพ่นลูกออกจากปากลงสู่แหล่งน้ำ เพราะมันรู้ว่าตัวเองคงไม่รอด แต่มันต้องการให้ลูกรอด เชื่อว่าชาวประมงหลายคนที่จับ “ปลาหมอคางดำ” อาจเกิดความสงสารเวลาเห็นมันพยายามพ่นลูกออกมา จึงปล่อยมันกลับคืนแหล่งน้ำไป นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ”