จากกรณีการหาทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีความเห็นทำนองว่าจะใช้วิธีการปล่อยปลานักล่า “ปลากะพงขาว” ลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตนและสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กรมประมง เร่งดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดจำนวนปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะมาตรการปล่อยปลานักล่า ซึ่งก็คือ “ปลากะพงขาว” ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพราะการปล่อยปลากะพงขาวซึ่งเป็นปลานักล่าจะต้องเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ 5 นิ้วขึ้นไป ซึ่งค่อนข้างมีราคาสูงมาก การใช้ปลานักล่าจึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และปลานักล่าขนาดดังกล่าวส่วนหนึ่งจะกลายเป็นผู้ถูกล่าจากสัตว์น้ำหรือปลาชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดโตกว่าลูกปลานักล่าที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำ และยังต้องเป็นผู้ถูกล่าจากเกษตรกรหรือผู้ที่มีอาชีพจับปลามาบริโภคหรือจำหน่าย

“…แน่นอนว่าเกษตรกรทุกคน ที่สามารถจับปลากะพงขาว หรือปลานักล่าในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ เพราะเขาจะจับปลาทุกชนิดที่มีขนาดตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาจับได้ปลานักล่าหรือปลากะพงขาวซึ่งเป็นปลาที่มีราคามากกว่าปลาหมอคางดำ เขาก็จะนำขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค และคงไม่มีเกษตรกรคนไหนที่จับได้ปลากะพงขาวได้แล้วปล่อยคืนลงสู่แหล่งน้ำอย่างแน่นอน สุดท้ายจำนวนปลากะพงขาวก็จะหมดไปจากแหล่งน้ำอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการปล่อยปลานักล่าจึงได้ไม่คุ้มกับเสีย ไม่คุ้มกับงบประมาณจำนวนมากที่ใช้ในการนี้…” นายไพโรจน์ กล่าวและเผยต่อไปว่า

ในทางตรงข้ามตนเห็นว่ารัฐบาลและกรมประมงควรจะเปลี่ยนเป็นการใช้งบประมาณดังกล่าวซื้อพันธุ์ปลานักล่าหรือปลากะพงขาวแล้วนำมาแจกจ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกรให้เลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อกุ้งร้างที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและจังหวัดใกล้เคียง จากนั้นสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวหรือปลานักล่า ออกทำการไล่ล่าจับปลาหมอคางดำแล้วนำมาใช้ทำเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงปลากะพงขาวหรือปลานักล่าที่เลี้ยงอีกที แบบนี้จะเกิดผลประโยชน์ทำให้พี่น้องประชาชนมากกว่า เพราะประชาชนมีรายได้จากการเลี้ยงปลากะพงขาวหรือปลานักล่า ในขณะเดียวกันที่ปลาหมอคางดำจะถูกไล่ล่าเพื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารเลี้ยงปลา ทำให้ปลาหมอคางดำมีจำนวนลดลงในธรรมชาติและเกิดความสมดุลในธรรมชาติได้อย่างแน่นอน