ภายหลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 คดี รวม 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี และได้รับการพักการลงโทษจากกรมราชทัณฑ์ มาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมคุมประพฤติ ปัจจุบันนายทักษิณ ยังคงอยู่ระหว่างการพักโทษ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า และใกล้ครบระยะเวลาได้รับอิสรภาพในเดือน ส.ค.นี้

“เดลินิวส์ออนไลน์” พาย้อนไทม์ไลน์ตั้งแต่นายทักษิณ ตัดสินใจกลับมาตุภูมิในรอบ 17 ปี เพื่อรับโทษคดีค้างเก่า ท่ามกลางข้อครหาเพราะนอนรักษาตัวนอกเรือนจำในโรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่คืนแรก จวบจนเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ และใกล้พ้นโทษเร็ววันนี้

วันที่ 22 ส.ค.66 นายทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รับโทษจำคุกในคดีคงค้าง 3 คดี คือ คดีทุจริตหวยบนดิน คดีให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้เมียนมาร์ โดยถูกส่งตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่กลางดึกเพียงคืนแรก นายทักษิณถูกส่งตัวออกนอกเรือนจำไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รีบนำตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลภายนอกที่หอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนพบสาเหตุอาการมาจาก 4 โรครุมเร้า ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พังผืดในปอด ความดันโลหิตสูง และกระดูกสันหลังเสื่อม

วันที่ 31 ส.ค.66 นายทักษิณ ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล

วันที่ 1 ก.ย.66 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ เหลือจำคุกเพียง 1 ปี เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ จงรักภักดี และมีอาการเจ็บป่วย ยอมรับการกระทำผิดและสำนึกในความผิด

วันที่ 17 ม.ค.67 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม เข้าแจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณ ที่ รพ.ตำรวจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศลักษณะพาดพิงสถาบัน เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.58 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ทั้งนี้ นายทักษิณให้การปฏิเสธพร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

วันที่ 18 ก.พ.67 หลังนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำนานกว่า 180 วัน หรือเทียบเท่าระยะเวลารับโทษจำคุกมาแล้ว 6 เดือน จากอัตราโทษ 1 ปี นายทักษิณได้เข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษ เนื่องจากมีเงื่อนไขและคุณสมบัติเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยได้แจ้งสถานที่พักโทษต่อกรมคุมประพฤติ เป็นบ้านจันทร์ส่องหล้า เลขที่ 472 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 69 แขวงและเขตบางพลัด กทม. จวบจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่นายทักษิณเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ เคยปรากฎภาพออกมา 1 ครั้ง ในช่วงเดือน ต.ค.66 โดยเป็นภาพที่นายทักษิณสวมชุดผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงเข็นของโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับว่าเป็นภาพจริง โดยเป็นการนำตัวนายทักษิณไปเข้าเครื่องซีทีสแกนและเอ็มอาร์ไอ ขณะที่การปรากฏครั้งที่ 2 คือ ภาพวันที่นายทักษิณได้รับการพักโทษ ออกจากโรงพยาบาลตำรวจในช่วงเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.67 โดยสารรถตู้ส่วนบุคคล

ทั้งยังมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว นั่งเคียงข้างเพื่อกลับไปพักผ่อนยังบ้านจันทร์ส่องหล้า โดยสื่อสามารถจับภาพนายทักษิณใส่เฝือกที่คอและแขน ทรงผมปกติเหมือนช่วงก่อนเข้าเรือนจำฯ ทั้งนี้ ระหว่างพักการลงโทษในความดูแลของกรมคุมประพฤติ นายทักษิณไม่เคยปฏิบัติผิดเงื่อนไขการพักโทษ แม้จะมีการเดินทางสัญจรไปยังต่างจังหวัดบ่อยครั้ง หรือร่วมงานบวชของลูกชายนายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี จ.ปทุมธานี หรือเปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าให้สมาชิกและผู้บริหารภายในพรรคเพื่อไทยได้เข้าหารือเยี่ยมเยียนก็ตาม เนื่องจากนายทักษิณได้มีการแจ้งขออนุญาตการเดินทางออกต่างจังหวัดต่อกรมคุมประพฤติทุกครั้ง

วันที่ 18 มิ.ย.67 นายทักษิณ เดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับฟังคำสั่งฟ้องในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ก่อนศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว ด้วยหลักประกันวงเงิน 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยในวันที่ 19 ส.ค.67 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดหมายตรวจพยานหลักฐาน

แม้วันนี้นายทักษิณยังคงอยู่ระหว่างการพักโทษ แต่มีการประเมินความเป็นไปได้ที่อาจทำให้นายทักษิณได้รับอิสรภาพก่อนครบกำหนดพักการลงโทษ หากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในโอกาสมหามงคล แต่หากคำนวณตามกรอบระยะเวลาพักการลงโทษ 6 เดือน นายทักษิณจะครบกำหนดพักโทษ และเตรียมพ้นโทษในเดือน ส.ค.นี้ โดยถ้าเป็นการพักโทษครบตามกำหนด 6 เดือน ตามหลักการจะมีขั้นตอนรายงานตัวครั้งสุดท้ายกับกรมคุมประพฤติ ก่อนได้รับใบบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 67 การปฏิบัติเมื่อจะปล่อยตัวผู้ต้องขัง หนึ่งในนั้น คือ การออกใบสำคัญการปล่อยนักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษ หากเป็นกรณีเข้าเงื่อนไขได้รับอภัยโทษเป็นการทั่วไป กรมคุมประพฤติจะได้รับหนังสือแจ้งจากกรมราชทัณฑ์ และมีการออกใบบริสุทธิ์แก่ผู้พ้นโทษเช่นเดียวกัน และถึงแม้นายทักษิณจะพ้นโทษใน 3 คดีดัง แต่ก็ยังมีบ่วงกรรมคดีมาตรา 112 ตามติดให้ลุ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อปี 65 เป็นพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 ก.ค.65 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 ส.ค.65 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง.