เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. เลขาธิการ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง สาระสำคัญระบุว่า 1. สถานะ/หน้าที่และอำนาจ กกต. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่จัดเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ และหน้าที่อื่น ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น

เลขาฯ กกต. เป็นหัวหน้าหน่วยบริหารและธุรการของ กกต. เพื่อให้งานในหน้าที่และอำนาจของ กกต. สำเร็จตามที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติ กกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขึ้นตรงกับ กกต.

นายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นคนคนเดียวกับเลขาฯ กกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กกต.ไม่ใช่หัวหน้านายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคไม่ได้ตรงขึ้นตรงกับ กกต. ต่างคนต่างเป็นอิสระ ต่างทำหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ทำเท่านั้น ไม่มีความสัมพันธ์กันในเชิงการบริหารหรือธุรการแต่อย่างใด     

2. การทำงาน/ความสัมพันธ์ กกต.และ เลขาฯ กกต. “ทำงานร่วมกัน” ในทุกเรื่องเกี่ยวกับงานของ กกต. เพื่อเป้าหมายของงานในหน้าที่และความรับผิดชอบ ของ กกต. ให้บรรลุผลสำเร็จ ตามฐานานุรูปในตำแหน่งที่ดำรงอยู่  กกต. และ นายทะเบียนพรรคการเมือง “ต่างคนต่างทำงาน” ไม่ขึ้นต่อกัน งานจะสัมพันธ์กันก็ต่อเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ต้องสัมพันธ์กัน กกต.จะมีมติให้นายทะเบียนทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้

3. ตัวอย่างการทำงาน กกต.และเลขาฯ กกต. อาทิ การเลือกตั้ง สส. เลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท งานประชามติ ฯลฯ กกต. เป็นผู้ออกระเบียบ ประกาศให้ เลขาฯปฏิบัติ มีมติ ให้เลขาฯไปดำเนินการในงานข้างต้นได้ทุกเรื่องเพื่อผลสำเร็จของงาน

กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง  อาทิ การเสนอให้ยุบพรรคการเมือง กกต. ก็มีอำนาจเสนอให้ยุบพรรคโดยลำพังตามมาตรา 92 แต่จะมามีมติ หรือสั่งให้นายทะเบียน พิจารณาดำเนินการเสนอยุบพรรคตามมาตรา 93 ไม่ได้ เพราะมาตรา 93 เป็นอำนาจเฉพาะของนายทะเบียนพรรคการเมือง

“ดังนั้น การเสนอให้ยุบพรรคตามมาตรา 92 หรือ 93 จึงไม่ใช่ทางเลือกหรือดุลพินิจที่ กกต. จะเลือกเพื่อเสนอให้ยุบพรรคการเมือง ว่าจะใช้มาตราใดสำหรับพรรคใด แต่เป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจเสนอยุบพรรค แก่ 2 องค์กร คือ กกต. หรือ นายทะเบียนพรรคการเมือง และแต่ละองค์กรก็เป็นอิสระต่อกัน”

เรื่องนี้อาจเทียบเคียงได้กับการพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของ สส. หรือ การพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจแก่หลายองค์กรในการยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ สส. เข้าชื่อกันก็ยื่นได้ กกต.ก็ยื่นได้เช่นกันหากเห็นว่ามีเหตุให้ยื่น เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต่างคนต่างทำหน้าที่ไม่ขึ้นต่อกัน แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ยื่นแล้ว อีกฝ่ายก็อาจยุติเรื่องก็ได้ เพราะมีการยื่นไปแล้ว

ด้วยข้อกฎหมาย เหตุผลข้างต้น ทั้งหลายทั้งปวง จึงเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐานแต่ประการใด.